พุทธศาสนาช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างไร
คุณศุกล พระพุทธศาสนาจะนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดความขัดแย้ง หรือความไม่เห็นด้วยในการอยู่ร่วมกัน ปกติคนมักจะคิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นการสละ ทำบุญทำทาน สร้าง บริจาคเงินทอดผ้าป่า กฐิน แต่ธรรมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันก็ยังไม่ทราบว่า ควรนำธรรมส่วนไหนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อความสันติสุข และลดความขัดแย้งต่างๆ ลงไปได้ ขอความกรุณาท่านอาจารย์แนะนำด้วยครับ
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า ประโยชน์มี ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราจะคิดถึงเพียงแค่เดียว คือ ประโยชน์ของเราส่วนตัว ต่างคนต่างต้องการประโยชน์ส่วนตัว แล้วจะเป็นประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องสอดคล้องกัน คือ ประโยชน์ของเราก็ต้องเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าถ้าเราได้ประโยชน์แล้วคนอื่นเสียประโยชน์ ประโยชน์ส่วนรวมเสียไปแล้วทำให้เราได้ประโยชน์คนเดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ประโยชน์ที่แท้จริงคือประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องมาจากประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ถ้าแต่ละคนได้รับประโยชน์ส่วนตัวหมดทุกคน ก็ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับด้วย ถ้าประโยชน์ส่วนตัวนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ประโยชน์ของเราส่วนตัวทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์หรือเปล่า หรือถ้าประโยชน์ส่วนตัวของเราไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเลย อันนั้นก็ไม่มีทางสำเร็จได้ แต่ถ้าประโยชน์ของเราซึ่งเป็นส่วนตัวนั้น เป็นประโยชน์ของส่วนรวมด้วย ต่างคนต่างช่วยกัน ทำให้ได้ทั้งประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ส่วนตัวด้วย อันนั้นก็จะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ก่อนจะถึงขั้นนี้ได้ ก็ต้องมีความขัดแย้งหรือมีปัญหา เพราะว่าคนเราคิดไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเริ่มด้วยมีความจริงใจต่อประโยชน์ส่วนรวม เมื่อมีความจริงต่อประโยชน์ส่วนรวมก็รับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ใช่ความเห็นของตนเองเท่านั้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ถ้าเราต้องการประโยชน์ส่วนรวม แต่เราไม่ฟังความเห็นของใครเลย และเราคิดว่านั่นถูกต้องแล้ว และคนอื่นก็มีความคิดเหมือนกัน และต่างคนต่างก็ต้องการให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม
เพราะฉะนั้น ถ้าจะนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม และรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม อันนั้นก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าถ้าทุกคนคิดว่า เราต้องชนะ หรือเราต้องถูก อันนั้นผิดค่ะ เพราะเหตุว่าชนะจริงๆ คือ ชนะด้วยเหตุผล แล้วด้วยประโยชน์ ถ้าสมมติว่า เราอยากชนะใครสักคน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย แล้วเราสามารถชนะจริงๆ แต่เราคิดว่า นั่นคือชนะจริง แต่ทางธรรม ไม่ได้แสดงเลยว่า นั่นชนะจริง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปด้วยความโกรธ หรือถ้าเป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัว เราไม่ได้ชนะใครเลย เราแพ้กิเลสของเราเอง และความเห็นแก่ตัวของเราจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น จะมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นๆ และต้องการชนะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเราเป็นผู้แพ้ต่อเหตุผล ไม่มีใครชนะเป็นตัวตน แต่เหตุผลเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะยอมแพ้ถ้าเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง หัดให้เราเองเป็นผู้มีเหตุผลมากขึ้น แทนที่จะต้องการเป็นผู้ชนะ แล้วไม่มีเหตุผล
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่พระธรรมจะสอนให้เราแก้ตัวเอง และจะรู้ว่า ความสุขจริงๆ อยู่ที่ตัวเรา บางทีเราอาจจะคิดว่า เราชนะคนอื่นแล้วเราพอใจ และในขณะเดียวกัน ความกระหยิ่ม ความสำคัญตน ความทะนงตนจะเพิ่มขึ้น จนในที่สุด เราไม่ยอมแพ้ใครเลย ขณะนั้นเราต้องเป็นทุกข์มาก เพราะเหตุว่าไม่มีทางที่เราจะเป็นคนชนะตลอดกาลไปได้
ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่ถ้าใครประพฤติปฏิบัติตามจะเป็นสุขตั้งแต่นาทีที่ปฏิบัติตามได้ คือท่านเปรียบคนที่ไม่มีความสำคัญตน ไม่มีความทะนงตนว่า เหมือนผ้าเช็ดธุลี คือผ้าเช็ดฝุ่นละออง ที่เอาเช็ดโต๊ะ เช็ดเก้าอี้ ผ้านั้นสามารถรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เลือด หนอง สิ่งสกปรกต่างๆ ผ้านั้นก็สามารถเช็ดได้
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถทนต่อคำทุกอย่างที่เป็นคำที่ไม่เหมาะสม เป็นคำที่เราไม่อยากจะฟังเลย แต่ใจเราไม่เดือดร้อนในขณะที่เราได้ยิน คิดดูซิคะว่า จะเป็นสุขสักแค่ไหน เราสามารถค่อยๆ ฝึกหัดเป็นไปได้ แต่การฝึกหัดทนคำของคนอื่น การกระทำของคนอื่นก็ต่อเมื่อเราเป็นผู้เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ทุกคนคงจะชินคำว่า “อนัตตา” ในพระพุทธศาสนา ซึ่งในศาสนาอื่นไม่มีคำนี้เลย นี่ไม่ได้หมายความว่าจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่น แต่เป็นความจริงที่ว่า คำว่า “อนัตตา” มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ การที่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่อยู่ในอำนาจของเรา เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพธรรมนั้นๆ ความหมายนั้นคือ อนัตตา อย่างความโกรธ ทุกคนดูแล้วก็รู้ว่าน่าเกลียด คนที่โกรธอาจจะไม่รู้ตัว แต่คนดูจะรู้ได้เลยว่า คนที่โกรธหน้าเปลี่ยน แทนที่จะยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม ก็จะถมึงทึง มีสีหน้าน่ากลัว ไม่น่ารัก ไม่น่าดูเลย แต่คนที่กำลังโกรธ ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่เห็นโทษของความโกรธ แต่ผู้ที่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงรู้ได้ว่า ธรรมฝ่ายใดเป็นฝ่ายดี ธรรมฝ่ายใดเป็นฝ่ายไม่ดี แล้วเรามีธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้น เราก็สามารถลดคลายทางฝ่ายอกุศลได้ แม้แต่ความโกรธ ถ้าเรารู้จริงๆ ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับใคร แทนที่เราคิดว่า เราต้องโกรธ แต่พระพุทธเจ้าไม่มีเลยในพระไตรปิฎก ไม่ว่าส่วนไหน บรรทัดไหน ข้อความไหน ที่จะกล่าวว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ดี นั่นต้องไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้แน่นอน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ไม่ดี แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษ และแม้สภาพธรรมที่ไม่ดีนั้นจะเกิดกับใครก็ต้องเป็นโทษในขณะนั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า เราเข้าใจธรรมจริงๆ เข้าใจชีวิตจริงๆ เข้าใจเหตุผลจริงๆ เข้าใจปัญหาจริงๆ เราสามารถแก้ได้ และเริ่มแก้ที่ตัวของเราเอง เพราะเหตุว่าที่สังคมแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะแต่ละคนพยายามไปแก้คนอื่น บางคนก็บอกว่า พระพุทธศาสนาดีมาก มีประโยชน์ ควรจะศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ผู้ที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนามีประโยชน์มาก อาจจะยังไม่ได้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาเลย เพียงแต่คิดว่า ต้องมีประโยชน์แน่ๆ แต่ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ คือไม่มีใครศึกษาพระพุทธศาสนา แต่เพียงกล่าวว่า พระพุทธศาสนาดี ถ้าดีจริงต้องเริ่มศึกษา เพื่อจะรู้ว่า สมจริงอย่างที่เรากล่าวว่า พระพุทธศาสนาดี แล้วจะเห็นพระคุณของพระธรรมมากขึ้น และจะเห็นด้วยมากขึ้น ซึ่งก่อนจะศึกษา อาจจะมีความเห็นผิดหลายๆ อย่าง