ศึกษาเองแล้วปฏิบัติจะผิดอย่างไร
ผู้ฟัง ศึกษาธรรมเองค่ะ ซื้อหนังสือมาอ่าน ศึกษาไป พิจารณาไป ก็เห็นความเป็นจริงตามหนังสือที่ศึกษา ก็มีจิตศรัทธาที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ก็เคยไปปฏิบัติกับพระอาจารย์ และเดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่า เข้าใจผิดนิดหน่อย ตรงข้ามกับอาจารย์ที่พูดเมื่อกี้ว่า เราจะความเครียด ไปนั่งแล้วหาย ไม่ใช่อย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติก่อน คือในภาษาไทยเราใช้คำว่า “ปฏิบัติ” หมายความถึงการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างสมมติว่า นั่งอยู่อย่างนี้ บางคนก็อาจจะคิดว่า ไม่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็คือ ทำ ในภาษาไทย บางคนก็คิดว่า ต้องทำ หรือไปทำ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมมีกิจการงาน หน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เช่น โลภะ ความต้องการเกิดขึ้นขณะใด เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่ยอมสละ โทสะ เกิดขึ้นขณะใด จิตจะกระด้างแล้วมีความขุ่นเคืองประทุษร้าย เบียดเบียน นั่นเป็นกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละอย่าง อันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ก็คือแสดงเรื่องจริงซึ่งมีอยู่แก่ทุกคน และสิ่งต่างๆ ที่มี ที่เราเคยยึดถือว่า เป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นธรรม ถ้าเข้าใจธรรมแล้วจะรู้ว่า ตาก็เป็นธรรม หู จมูก ลิ้น กาย ความคิด ความสุข ความทุกข์ ความริษยา มานะ ความสำคัญตน ความเกียจคร้าน ความง่วง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คือทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งทุกคนมี แต่ไม่เคยเข้าใจ แล้วมายึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า เราทำ หรือเราปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงแล้ว ธรรมนั่นเองปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ อย่างเวลาเมตตาเกิด เมตตาคือความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความปรารถนาดี ถ้าเราเป็นเพื่อนกับใคร จะสังเกตได้เลยว่า เราคิดถึงแต่จะให้ประโยชน์แก่เขา ไม่เคยคิดเบียดเบียนทำร้ายเลย นั่นคือลักษณะของเพื่อนจริงๆ ซึ่งความจริงก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เมตตาในภาษาบาลี ซึ่งในภาษาไทยก็ใช้คำว่า มิตร หรือเพื่อน
เพราะฉะนั้น เวลาไหนที่เราเกิดหวังดีต่อใคร ให้ทราบว่า สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นกำลังทำกิจหวังดี แต่เวลาโกรธ ทั้งๆ ที่เราบอกว่า คนนี้เป็นเพื่อนเรา แต่ลองคิดดูซิว่า เราเคยโกรธเพื่อนคนนั้นไหม ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพื่อนเรา แต่เราก็ยังเคยโกรธเขา เพราะฉะนั้น เวลาที่ลักษณะของสภาพธรรมที่โกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ก็ทำกิจของธรรม คือไม่ชอบใจเลยในการกระทำของคนนั้นในเรื่องนั้น
เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมปฏิบัติกิจของธรรม ไม่ใช่เรามีตัวตนซึ่งจะทำ อย่างขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่ง แล้วตั้งแต่เกิดมากี่ชาติก็ตาม เวลาไหนที่ไม่ได้รับฟังพระธรรม ก็จะคิดว่า เป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ของเราหมดเลย เกิดมาอย่างไร ได้มาจากไหน ไม่สำคัญ ถ้ามาอยู่ตรงนี้แล้วก็ยึดถือเอาเลยว่าเป็นเรา
เพราะฉะนั้น ก็ไม่เคยเข้าใจว่า เห็นขณะนี้มี กำลังทำกิจเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง และขณะนี้ก็มีได้ยิน ได้ยินกับเห็น ไม่เหมือนกันเลย เห็นต้องอาศัยจักขุปสาทกับสิ่งที่มากระทบตา จึงเห็นสิ่งนั้น ถ้าทางหู ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ต้องมีโสตปสาท ถ้าไม่มีโสตปสาท อย่างไรๆ การได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงแม้คนที่มีโสตปสาท แต่ถ้านอนหลับ ก็ไม่ได้ยินอีก ถึงแม้ว่ามีเสียง
นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การได้ยินชั่วขณะนิดหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นทำกิจได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วไม่มีใครทำด้วย แต่จิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ ไม่ใช่ในขณะที่คิดนึก
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรม มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาไทยก็ใช้บ่อย คือคำว่า “สติ” คงไม่มีใครไม่ใช้คำนี้ แต่ว่าใช้ผิด อย่างเคย คืออะไรก็ต้องผิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้เรียนตามพระพุทธศาสนาแล้ว เราก็จะแปลความหมายเอาเอง อย่างบางคนบอกว่า เดินข้ามถนน แล้วรถไม่ชน ก็มีสติ หรือปอกผลไม้ มีดไม่บาด ก็มีสติ แต่จริงๆ แล้ว สติจริงๆ ต้องธรรมฝ่ายดี เป็นสภาพธรรมที่มีการระลึกได้ที่เป็นไปทางกุศลทั้งหมด อย่างวันนี้มีใครคิดให้ทานบ้างหรือยัง ทานที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นวัตถุมโหฬาร ใหญ่โต แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่น อาจจะเป็นคนไม่มีกระดาษเช็ดมือ แล้วเรามี เราให้ นั่นก็เป็นทาน เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ และเรามีจิตที่ไม่เห็นแก่ตัว คือไม่ลำบากที่จะให้คนนั้นเลย มีความเป็นเพื่อน แล้วมีการช่วย ให้สิ่งนั้นไป ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่งซึ่งดี ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย จึงเป็นไปในการให้ ถ้าคนไม่มีสติเกิด เห็นคนที่ต้องการกระดาษ และตนเองก็มี และอยู่ในกระเป๋า ก็ไม่คิดที่จะเปิดกระเป๋าแล้วหยิบให้ ขณะนั้นก็เป็นธรรมหมด เป็นความตระหนี่ เป็นความเกียจคร้าน เป็นธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดี คือสติระลึกที่จะเป็นไปในการช่วยเหลือ ในการให้ ขณะนั้นต้องเป็นธรรมฝ่ายดี
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติสมถะ ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติวิปัสสนา แต่เป็นสติ การระลึกได้ที่จะเจริญกุศล และไม่ใช่กุศลขั้นเล็กๆ น้อยๆ ทานชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการทำให้จิตของเราสงบจากอกุศลทุกอย่าง และเพิ่มความมั่นคงในความสงบขึ้น นั่นถึงจะเป็นสมถภาวนา และสภาพธรรมหลายอย่างที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีช่วยกันเกิดขึ้นปฏิบัติกิจ ไม่ใช่เป็นตัวตนอยากจะนั่งให้สงบ หรือเครียดแล้วไม่อยากเครียด ก็ไปนั่งทำอะไรขึ้นมาแล้วก็คิดว่า ขณะนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่ค่ะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องไม่ว่าจะได้ยินคำหนึ่งคำใด ขอให้เข้าใจถูกจริงๆ ในคำนั้น ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา นั่นเป็นการเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น และถ้าปราศจากปัญญา อย่าปฏิบัติอะไรทั้งหมด สมถะก็ไม่ได้ วิปัสสนาก็ไม่ได้ ผิดหมด ต้องเป็นปัญญาของเราเองที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย แล้วจะเห็นประโยชน์ของปัญญาเพิ่มขึ้น