อรรถกถากฬายมุฏฐิชาดก (ทิ้งประโยชน์ใหญ่)


    ขอกล่าวถึงข้อความในชาดกต่อไป ซึ่งแต่ละท่านอาจจะไม่ได้สังเกตเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ เช่น ใน ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก อรรถกถา กฬายมุฏฐิชาดก

    ข้อความมีว่า

    ในพระราชอุทยานใกล้ที่ประทับของพระราชา มีลิงตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ ฉวยเอาถั่วที่ทหารม้าเอามาใส่ไว้ในราง ใส่ปากจนเต็ม แล้วยังคว้าติดมือไปอีก กระโดดขึ้นไปนั่งบนต้นไม้ เริ่มจะกิน เมื่อมันจะกิน ถั่วเม็ดหนึ่งหลุดจากมือตกลงไปบนดิน มันจึงทิ้งถั่วทั้งหมดทั้งที่อยู่ในปากและที่มือ ลงจากต้นไม้ มองหาถั่วที่ตกนั้น ครั้นไม่เห็น จึงกลับขึ้นต้นไม้ นั่งเศร้าโศกเสียใจ หน้าซึมอยู่บนกิ่งไม้ เหมือนแพ้คดีไปสัก ๑,๐๐๐ คดี

    จบแค่นี้หรือเปล่า

    ถ้าคนที่ไม่คิด ไม่พิจารณา จะไม่มีโยนิโสมนสิการอะไรเลย แต่ผู้ที่เป็น พระโพธิสัตว์ จะพิจารณาทุกอย่างที่เห็นด้วยโยนิโสมนสิการ ซึ่งคนธรรมดาก็เห็น แต่ผ่านไป เพียงลิงตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ ฉวยเอาถั่วกำหนึ่งใส่ปากจนเต็ม และคว้า ติดมือ กระโดดขึ้นไป เมื่อเริ่มจะกิน ถั่วตกไปเม็ดเดียว ก็ทิ้งหมดทั้งที่มือและที่ปาก ลงจากต้นไม้มองหาถั่วที่ตกนั้น ครั้นไม่เห็นก็กลับขึ้นต้นไม้ไปนั่งเศร้าโศกเสียใจ หน้าซึมอยู่บนกิ่งไม้ ถ้าใครจะมองดู ก็คงเห็นเพียงเท่านี้ แต่พระโพธิสัตว์ซึ่งในครั้งนั้นเป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระราชา คือ เป็นธรรมานุสาสก ได้กราบทูลพระราชาว่า

    ผู้โง่เขลา ไร้ปัญญา ไม่มองถึงของมาก มองแต่ของน้อย ลิงผู้เที่ยวหาอาหารตามกิ่งไม้นี้โง่เขลายิ่งนัก ปัญญาของมันก็ไม่มี มันสาดถั่วทั้งกำเสียหมดสิ้น แล้วเที่ยวค้นหาถั่วเม็ดเดียวที่ตกลงยังพื้นดิน

    ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้งของมากเพราะของน้อย เปรียบเหมือนวานรเสื่อมจากถั่วทั้งหมดเพราะถั่วเม็ดเดียว ฉะนั้น

    กำลังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า นี่คือโยนิโสมนสิการที่ได้จากการพิจารณา เริ่มพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยโยนิโสมนสิการอย่างพระโพธิสัตว์หรือเปล่า ทุกคนทิ้งประโยชน์ใหญ่ คือ กุศลทุกขั้นจนถึงมรรคผลนิพพาน เพราะของน้อย คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เปรียบกับลิงได้ไหม ทิ้งของมาก ทิ้งประโยชน์ใหญ่ เพราะต้องการเพียงถั่ว เม็ดเดียว ถั่วเม็ดเดียว คือ ความเล็กน้อยของรูปที่กำลังปรากฏทางตา เสียงที่กำลังปรากฏทางหู กลิ่นที่กำลังปรากฏทางจมูก รสที่กำลังปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ชั่วขณะเดียวที่สั้นมากที่เกิดขึ้นและดับไป ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด กุศลไม่เกิด นั่นคือผู้ที่โลภจัด และหลงไป ติดไป ด้วยกำลังของอกุศลในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าเปรียบกับลิง รู้สึกอย่างไร เหมือนกัน หรืออยากจะพ้นจากสภาพซึ่ง เป็นเพียงลิง นี่คือโยนิโสมนสิการของพระโพธิสัตว์

    อรรถกถา พันธนาคารชาดกที่ ๖ มีข้อความสั้นๆ ว่า

    กิเลสเกิดขึ้นแม้คราวเดียวด้วยอำนาจตัณหาและโลภะ ย่อมแก้หลุดได้ยาก

    สั้นๆ เพียงเท่านี้ แต่ก็เตือนทุกครั้งที่โลภะเกิดว่า โลภะมีอันตรายแค่ไหน

    ยังจะให้แก้ยากๆ ต่อไป หลุดยากๆ ต่อไปอีก หรือจะเริ่มระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เพราะเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะละโลภะได้ นอกจากนั้นไม่มีทางอื่นเลยที่จะละอกุศลธรรมทั้งหลายได้

    อรรถกถา อุปาหนชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า

    พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะบอกศิลปะ ย่อมไม่ปิดบังวิชา ให้ศึกษาวิชาตามที่ตนรู้มาโดยไม่มีเหลือ

    ทุกคนเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ตระหนี่ ไม่หวงแหน ถ้าเปรียบเทียบกับถั่ว เม็ดเดียว ถ้ายังมีโลภะอยู่จะเสียประโยชน์ใหญ่ แทนที่จะทิ้งๆ ไป อกุศลทั้งหลาย เพื่อจะได้ประโยชน์ใหญ่ คือ กุศล แม้แต่การที่จะบอกศิลปะ ย่อมไม่ปิดบังวิชา ให้ศึกษาวิชาตามที่ตนรู้มาโดยไม่มีเหลือ


    หมายเลข 3631
    18 ต.ค. 2566