ตัณหาสูตร
สติปัฏฐานสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่ใช่ว่า สติปัฏฐานจะเกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้เข้าใจว่า อะไรเป็นอาหารของสติ เพราะว่าทุกอย่างที่จะเจริญขึ้น จะต้องมีอาหาร ซึ่งข้อความบางตอนใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ตัณหาสูตร มีว่า
ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ควรกล่าวว่า สุจริต ๓
เพื่อที่จะไม่ให้ขาดสติและประพฤติทุจริต เพราะถ้ากิเลสยังมีกำลังแรง เป็นผู้ที่กระทำทุจริตอยู่เสมอ และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะ สติปัฏฐานเป็นสติขั้นที่สูงกว่าสติทั่วๆ ไป
ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย (คือ การพิจารณาโดย แยบคาย) ก็อะไรเป็นอาหารของการพิจารณาโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของ การฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยัง การฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ย่อมยังการพิจารณาโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การพิจารณาโดยแยบคายที่บริบูรณ์ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ ที่บริบูรณ์ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
ต้องค่อยๆ เจริญไป อบรมไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆ สังเกต รู้ลักษณะของสติในขณะที่กุศลจิตเกิด