อุปักกิเลสสูตร (ภิกษุขัดใจทะเลาะวิวาทกัน)


    ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อุปักกิเลสสูตร ข้อ ๔๓๙ ข้อความโดยย่อมีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี สมัยนั้นแล พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ กราบทูลให้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ และทูลขอให้พระผู้มีพระภาคได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

    ต่อนั้นได้เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้

    ใครห้ามก็ไม่ฟัง แม้ว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรง พระมหากรุณา ทรงเตือน ทรงโอวาท ก็ไม่อาจยับยั้งอกุศลธรรมในขณะนั้นได้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่ ๒ และแม้ในวาระที่ ๓ ภิกษุรูปนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเหมือนเดิม

    ท่านผู้ฟังอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ใช่ไหม กำลังโกรธ ใครบอกว่าอย่าโกรธเลย ก็ห้ามไม่ฟัง นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่ากาลสมัยไหม ไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะเห็นโทษว่า ถ้าเกิดในอนาคต ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค กำลังมีความโกรธ และตรัสให้ละความโกรธ และจะยังกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้ ไหม

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลา พระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ตรัสพระคาถาแสดงโทษของการมาดร้ายกัน … (ซึ่งเป็นข้อความที่ยาว)

    แล้วเสด็จเข้าไปบ้านพาลกโลณการ ซึ่งขณะนั้นท่านพระภคุอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงสนทนากับท่านพระภคุ ทรงชักชวนให้อาจหาญร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วย ธรรม แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์ ซึ่งขณะนั้น ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละอยู่ด้วยกัน ด้วยความเมตตา ต่อกันทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ

    เมื่อตรัสเตือนแล้วไม่ฟัง ก็ควรทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ฟังจะเป็นประโยชน์กว่า จึงได้เสด็จไปถึงที่อยู่ของท่านพระภคุ และที่อยู่ของท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ

    เรื่องของการหลงลืมสติ ขาดสติ เป็นอันตรายจริงๆ ทำให้ภิกษุบางรูปขัดใจกับภิกษุบางรูป


    หมายเลข 3634
    9 ต.ค. 2566