อิริยาปถบรรพ


    บรรพต่อไป ในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รุ้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในบ้างทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอย่อมตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบอิริยาบถบรรพ

    ผู้ฟัง

    ข้อความว่า เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อนั่งอยู่ ก็รู้ว่าเรานั่ง อย่างนี้เป็นต้น คำว่า รู้ว่าเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อย่างนี้ “เรา” นี้คืออะไร

    ท่านอาจารย์ บางทีพยัญชนะ หรือว่ารูปประโยคในภาษาต่างๆ ก็อาจจะทำให้สงสัย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหตุว่าบางประโยคนั้นไม่มีประธานก็ไม่ได้ หรือว่า ถ้าไม่มีประธาน ก็ไม่ชัด

    เวลาที่เดิน ถ้าไม่มีพยัญชนะว่า รู้ว่าเราเดิน ก็อาจจะคิดว่าคนอื่นเดิน ถ้าศึกษาสอบทานพิจารณาไตร่ตรองธรรมย่อมจะเข้าใจอรรถในที่นั้นไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่า สติปัฏฐาน เห็นกายในกาย มีคำว่า “เรา” มีคำว่า “ตัวตน” ไหม ในบรรพนั้น เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ไม่มีคำว่า อัตตาเลย ไม่มีตัวตน

    การเห็นกายในกาย คือ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ก็เห็น พิจารณารู้ตามความเป็นจริงว่า เห็นกายว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะมีลักษณะอย่างไร กายนั้นมีลักษณะอย่างไรจึงไม่ใช่ตัวตน

    ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวว่า เห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นตัวตนในกาย หรือไม่ใช่เห็นว่ากายเป็นตัวตน แต่ว่าเห็นกายในกาย คือ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง คือ การเห็นกายในกาย


    หมายเลข 3654
    2 ส.ค. 2567