มรณานุสสติ - อสุภกรรมฐานในสมถภาวนา


    การเจริญสมถภาวนาทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นมรณสติก็ตาม ระลึกถึงความตาย เพราะเหตุว่าบางท่านระลึกถึงความตายแล้วกลัว ตกใจมาก อยากจะหนีให้พ้นวันนั้น นั่นหรือคือสมถภาวนา ไม่ใช่บอกใครๆ ให้ระลึกถึงความตายแล้วจิตจะสงบ เป็นการเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่มีอุบาย ไม่มีนัย ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย ต้องระลึกถ้วยปัญญา แล้วจิตจึงจะสงบฉันใด การที่จะระลึกที่ลมหายใจพร้อมปัญญา จิตจึงจะสงบในขณะนั้น หรือการระลึกถึงอสุภ ซากศพก็เช่นเดียวกัน หลายท่านทีเดียวเห็นแล้วกลัว ยังกลัวอยู่เรื่อยๆ ไม่สงบเลย เพราะฉะนั้น จะบอกว่าให้ไปเจริญอสุภ ดูอสุภ แล้วจิตจะสงบ เป็นไปได้อย่างไรคะ ถ้าปัญญาไม่เกิดที่ทำให้เห็นความจริงของอสุภว่า ไม่มีใครพ้นไปได้ อสุภนั้นหรืออสุภนี้ก็เหมือนกันในวันหนึ่ง ถ้าระลึกให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในแนวทางของกุศลแล้ว จิตจึงสงบได้ ไม่อย่างนั้นไปนั่งจ้องหัวกะโหลกทั้งวันๆ ก็ไม่ใช่จิตจะสงบ คิดว่าเป็นสมาธิ เข้าใจว่าสงบแล้ว แต่ความจริงไม่เกิดความรู้ หรือแม้แต่จิตที่ถอยจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เกิดขึ้นเลย แล้วจะสงบได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น อารมณ์ของสมถภาวนาทั้ง ๔๐ อารมณ์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การระลึกโดยถูกต้องย่อมทำให้จิตสงบ แล้วก็จะต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปจดจ้องให้จิตตั้งแน่วแน่อยู่ที่ลมหายใจโดยไม่รู้ ผลปรากฏก็คือสงบเสียจนไม่รู้สึกตัว นั่นหรือคะ สงบจนถึงขีดสุดคือปราศจากความรู้สึกตัว บางท่านก็มีอาการผิดปกติ เพราะเหตุว่าเมื่อโมหมูลจิต ความหลงลืมสติ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ แล้วก็เข้าใจว่าสงบ ผลก็คือว่ามีปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งผิดปกติ แล้วก็เป็นที่ตั้งของความสงสัย เช่นบางคนอาจจะรู้สึกว่า ตัวลอยขึ้นไป ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่แท้ๆ สติสัมปชัญญะไม่มีเลย มีความรู้สึกปกติขึ้นแล้วก็สงสัยว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนั้นขึ้น บางท่านก็เล่าให้ฟังว่า บางคนถึงกับเดินไปรอบๆ แล้วทำท่าเหมือนไก่ปรบปีก นั่นคือผลของการจดจ้องที่ลมหายใจ แล้วปราศจากความรู้สึกตัว ซึ่งไม่ใช่สมถภาวนาเลย จะกล่าวว่า สงบเสียจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวนั้นเป็นไปได้ไหมคะ นั่นไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาความรู้สึกที่เพียงแต่ลมหายใจปรากฏ แล้วระลึกรู้ความจริง ขณะนั้นสงบ ต่างกับขณะที่ต้องการจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้วก็สงสัยว่า เมื่อไรจะสงบขึ้น ฌานจิตจะทำอย่างไร อุปจารสมาธิจะเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิจะเป็นอย่างไร เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของความสงสัย ความไม่รู้ และความต้องการสิ่งอื่นซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ไม่สงบเลย


    หมายเลข 3656
    3 ส.ค. 2567