การเซ่นสรวง กับ มงคลกิริยา ต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง เมื่อกี้อาจารย์อธิบายเกี่ยวกับการเซ่นสรวง ตามที่ผมอยากจะทราบ อาจารย์อธิบายในการต้อนรับขับสู้ เป็นมงคลกิริยา แต่สิ่งที่ผมสนใจคำว่า “การเซ่นสรวง” นี้ ในภาษาไทย หมายถึงการเซ่นไหว้เจ้าก็ดี วิญญาณคนตายก็ดี อันนี้รวมอยู่ในความหมายนี้ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ อันนี้แล้วแต่จะเข้าใจความหมายของ “มงคลกิริยา” คือกิริยาที่เป็นมงคล ที่ไม่ดูถูกดูหมิ่น อาจจะเป็นการเคารพอ่อนน้อม ระลึกถึงคุณ ถ้าเข้าใจถูก มารดาบิดามีคุณ เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า “เซ่นสรวง” ก็หมายความถึงมีมงคลกิริยาที่แสดงถึงความนอบน้อม ความเคารพ การระลึกถึงพระคุณ แต่ต้องเข้าใจถูก อย่าเข้าใจผิดว่า ต้องเซ่นสรวง ต้องกิน ต้องใช้ หรือต้องบริโภคใช้สอยเหมือนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่าที่ใช้คำว่า “เซ่นสรวง” มักจะใช้กับผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้ เป็นผู้ล่วงลับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจถูกต้องด้วย ถ้าเป็นเพียงมงคลกิริยา จะด้วยอาการใดๆ ก็แล้วแต่ความเชื่อ ความคิด ความเลื่อมใส แต่ในขณะนั้นบุคคลนั้นมีมงคลกิริยาที่เคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณ และเป็นการกระทำเพื่อระลึกถึงพระคุณ ก็ไม่ผิด แต่ต้องเข้าใจถูกด้วยว่า ไม่ใช่ให้บุคคลนั้นบริโภคใช้สอยเหมือนอย่างผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
สำหรับข้อที่ว่า การบูชาไม่มีผล ก็โดยนัยเดียวกัน การเคารพ การนับถือ การเลื่อมใส การบูชา มี และขณะใดที่กระทำกรรมทางกาย ทางวาจาซึ่งเป็นการบูชา ขณะนั้นก็ต้องพิจารณาว่า เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าเลื่อมใสผิด นับถือผิด ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เป็นกุศลจิต
เพราะฉะนั้น เพียงการบูชาอย่างเดียว ก็ต้องพิจารณาว่า บูชาถูกหรือบูชาผิด ถ้าบูชาผิด เพราะอะไร เพราะมิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด ทำให้บูชาผิดๆ เพราะฉะนั้น ผลของการบูชาผิดก็ต้องมี เป็นทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ใช่เป็นผลของกุศลกรรม