อพิชฌา เป็นอย่างไร
ผู้ฟัง สงสัยเรื่องอภิชฌา อภิชฌาหมายถึงจิตขโมย ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ หมายความถึงเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตน
ผู้ฟัง สมมติว่า เห็นเก้าอี้ตัวนี้แล้วอยากได้ ต้องการมาเป็นของตนในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ โดยทางสุจริตหรือทุจริตคะ ต้องการซื้อหา ต้องการขอ
ผู้ฟัง ยังไม่ได้คิด เพียงแต่อยากได้
ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้คิด ไม่เป็นอกุศลกรรม เป็นโลภมูลจิต ถ้าเข้าไปร้านใหญ่ๆ เห็นของสวยๆ งามๆ แล้วอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ในขณะนั้นไม่ใช่อกุศลกรรม
ผู้ฟัง ผมไปอ่านเจอในอัฏฐสาลินีว่า แท้จริงขณะที่จิตโลภเกิดขึ้น โดยมีวัตถุอื่น ขณะนั้นกรรมบถยังไม่ขาด ตราบเท่าที่ไม่คิดว่า ไฉนหนอสิ่งนี้พึงเป็นของเรา ขณะหนอสิ่งนี้จะเป็นของเรา ผมคิดเอาว่า คงมีความหมายว่า ต้องการสิ่งนี้
ท่านอาจารย์ ไฉนหนอของนั้นของนั้นจึงเป็นของเราในทางทุจริต
ผู้ฟัง ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ต้องกล่าวไว้เพราะเป็นหัวข้ออกุศลกรรมบถ
ผู้ฟัง แต่ไม่มีทุจริต
ท่านอาจารย์ โดยมากต้องดูหัวข้อ แม้ในเรื่องของสมาธินิทเทส เช่น ในวิสุทธิมรรค ชื่อหนังสือบอกแล้ว วิสุทธิมรรค หนทางแห่งความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น แม้แต่สมาธินิทเทสก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิ จะไม่กล่าวถึงมิจฉาสมาธิเลย ในหมวดนั้น ตอนนั้น ฉันใด ในเรื่องของกรรมบถก็เหมือนกัน
ผู้ฟัง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่า โดยทางทุจริต ก็คือจิตคิดจะขโมย
ท่านอาจารย์ คิดที่จะได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน โดยวิธีใดก็ตามแต่ ในทางทุจริต
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเป็นอทินนาทานที่ไม่ครบองค์ ก็แสดงว่า เป็นอภิชฌาที่ครบองค์แล้ว เพราะอทินนาทานนี่อย่างน้อยจะต้องมีจิตคิดจะขโมยแน่ๆ
ท่านอาจารย์ เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่อยู่เพียงใจ คิดไปทั้งวัน ทั้งคืน แต่ไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิด ก็ไม่สำเร็จ เช่น อยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกไป อยากจะได้ของๆ เขา จะเป็นการได้ของบุคคลอื่นมาได้อย่างไร นั่งคิดไปๆ ไม่มีวันที่ของๆ คนอื่นจะมาเป็นของของท่านได้ สำหรับผู้ที่คิดอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือทางวาจา แต่สำหรับการทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรมมี เป็นแต่เพียงกายกรรม เช่น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจจะเป็นของซึ่งไม่ทราบว่า เจ้าของอยู่ที่ไหน แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย และไม่เคยคิดมาก่อนด้วยว่า ต้องการของสิ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปเห็นเข้า เช่น ดอกไม้ในสวน ในป่า ก็ต้องการของสิ่งนั้น แล้วก็ถือไปหรือเด็ดไป จะเป็นดอกไม้หรือผลไม้ก็ตาม ถ้ามีผลไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น เมื่ออยากได้ก็เก็บเอาไว้ ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรม
เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓ ก็เพื่อจะแยกให้เห็นว่า กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม แต่สำหรับมโนกรรม ที่จะเป็นมโนกรรมโดยคิดอยู่ในใจเฉยๆ ไม่ได้ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจานั้น ไม่สามารถสำเร็จลงไปได้ แต่ว่าต่างกับกายกรรม และวจีกรรม โดยที่ว่ามโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน จึงจัดเป็นมโนกรรม
ถ้าโกรธคนหนึ่ง แล้วคิดจะฆ่าคนนั้น แล้วจ้างคนอื่นไปฆ่าคนนั้น ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม แม้ว่าเป็นปาณาติบาต ซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง แต่กรรมนั้นเพราะสำเร็จลงเพราะมโนกรรม ไม่ใช่เพียงกายกรรม แต่ถ้าโกรธ ระงับไม่อยู่เลย ประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ได้ผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่า จะฆ่าคนนั้น แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว ทำให้บุคคลนั้นตายไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม
เพราะฉะนั้น องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้นๆ เป็นกายกรรม หรือเป็นมโนกรรม