สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการฟังพระธรรม


    ผู้ฟัง มีผู้ฟังธรรม ถามว่าก่อนหน้านั้นคือได้ยินเสียงอะไรแล้วโทสะ จะเกิดมาก พอหลังจากมาฟังธรรมที่ท่านอาจารย์สอนแล้ว พอได้ยินแล้วรู้สึกว่าความโกรธมันน้อยลงกว่าสมัยก่อน อย่างนี้ไม่ถือว่ากิเลสถูกขัดเกลา ใช่ไหม?

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังเลย ก็จะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถจะเห็นความต่างกัน ของสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการได้ยิน ได้ฟัง แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่ยังเป็นเราอยู่ จะขัดเกลาอะไร? เพราะยังเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง แต่โทสะ ก็คือกิเลสชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็เกิดน้อยลง แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิด อนุสัยก็ยังมีอยู่จริงๆ แล้วถ้าพูดอย่างธรรมดา เราก็จะบอกว่าอกุศลเกิด แล้วก็กุศลนั้นก็ขัดเกลากิเลส แต่ว่าถ้าจะพูดถึงกุศลที่ขัดเกลาจริงๆ ที่กล่าวโดยบ่งชัดก็ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะว่าขณะนั้นมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ว่าไม่มีเรา แต่ว่าถึงแม้ว่าจะมีกุศลจิตเกิดมากมาย ยังเป็นเราอยู่ ก็ยังไม่ได้ ขัดเกลาทิฏฐานุสัย ด้วยว่าการที่จะถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง แต่ในขั้นวิปัสสนาญาณ อนุสัยทั้ง ๗ ยังอยู่ครบเลย

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล โลกุตรมรรค จะดับอกุศล

    ผู้ฟัง คำว่าขัดเกลา ความหมายจริงๆ ก็คือบางลงๆ

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาที่รู้ เพราะฉะนั้นก็ขัดเกลาความไม่รู้

    ผู้ฟัง คิดว่าหลายๆ คนจะเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เจาะจง พูดโดยทั่วไปก็ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิดก็ขัดเกลากิเลส แต่ความจริงถ้าจะขัดเกลาจริงๆ ต้องด้วยปัญญา ที่รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    อ.ประเชิญ ถ้าเป็นขั้นศีล อย่างเช่นคฤหัสถ์ ก็เป็นนิจจศีล (ศีล ๕) แล้วก็เห็นว่ากุศลอย่างอื่นก็ควรเจริญศีล ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น อุโบสถศีล เป็นต้น จะเป็นการขัดเกลาหรือไม่ หรือภิกษุ ที่ท่านรักษาศีล ๒๒๗ ท่านก็เห็นว่าควรจะขัดเกลายิ่งขึ้น ด้วยการรักษาธุดงค์หรือธุตังคะ อย่างนี้ก็เหมือนว่าจะเป็นการขัดเกลาด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะถ้าใช้คำแล้วใช้ได้ แต่ว่ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นจะขัดเกลาด้วยปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จะกล่าวโดยกว้าง หรือว่าจะกล่าวโดยเจาะจง เหมือนอย่างเจตนาเป็นกรรม แต่บางครั้งก็พูดว่า กุศลจิต อกุศลจิต กระทำกรรม แต่ว่าถ้าจะเจาะจงจริงๆ ก็ต้องรู้ว่าระดับไหน ที่จะขัดเกลา

    อ.ประเชิญ แต่โดยตรงจริงๆ ที่จะละกิเลสเป็นองค์ๆ ก็ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอกุศลไม่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าขัดเกลาอกุศลที่ยังไม่เกิดให้น้อยลง จนกระทั่งหมดไป

    อ.ประเชิญ แล้วก็อย่างขั้นที่ว่าการให้ทานที่จะขัดเกลาความตระหนี่ ก็นัยยะเดียวกันใช่ไหม?

    ท่านอาจารย์ นัยยะเดียวกันทั้งหมด ยังมีความเป็นเราอยู่ตราบใด ตระหนี่ขันธ์ ตระหนี่อายตนะ ตระหนี่ธาตุ ยังเป็นเรา ของเราอยู่


    หมายเลข 3753
    21 ส.ค. 2567