เหตุปัจจัยในชีวิตประจำวัน


    วันหนึ่งๆ เคยพิจารณาเห-ตุปัจจัยบ้างไหมคะ ทุกท่านมีกิจการงานที่กระทำอยู่เสมอ ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่รู้ลักษณะของเห-ตุปัจจัยแน่นอนว่า ในขณะที่ตื่นขึ้นมา ทำกิจวัตรประจำวันในขณะนั้นเป็นเพราะเห-ตุปัจจัยอะไร แต่ถ้าสติเกิดจะทราบได้ว่าไม่พ้นจากโลภเห-ตุ คือ โลภเจตสิกแต่เป็นอย่างชนิดที่บางและละเอียด และไม่ปรากฏลักษณะของความเป็นอกุศลธรรมอย่างแรง เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่รีบร้อน และพยายามทบทวนเรื่องของปัจจัยทั้ง ๕ ตามที่ได้ฟังแล้ว ก่อนที่จะถึงปัจจัยที่ ๖ ก็อาจจะเกื้อกูลอุปการะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันได้เพราะเหตุว่าข้อที่ควรจะได้ทราบที่จะเป็นประโยชน์กับสติปัฏฐาน ก็คือ สำหรับเห-ตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นเหตุ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดจิตเท่านั้น

    และในชีวิตประจำวันท่านผู้ฟังเห็นรูปปรากฏภายนอก และอาจจะบอกได้ว่า คนนี้กำลังมีโลภะ หรือว่าคนนั้นกำลังมีโทสะ เพราะเหตุว่าเจตสิกซึ่งเป็นเหตุปัจจัย นอกจากจะทำให้จิตเกิด แล้วยังเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดด้วยแต่ว่าประโยชน์ คือ ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของรูป ในขณะที่เป็นโลภะ หรือในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะนั้นจะรู้ว่ารูปนั้นเป็นเช่นนั้น เพราะโลภะเป็นเห-ตุปัจจัย หรือโทสะเป็นเห-ตุปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดเป็นอย่างนั้น

    ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสสติระลึกหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะกุศลหรืออกุศลเป็นปัจจัย หรือเป็นเพราะโลภมูลจิต โลภเจตสิกเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การยิ้มแย้ม หรือการหัวเราะนั้นเกิดขึ้น เวลาที่ร้องไห้เสียใจ ก็อาจจะมีใช่ไหมคะ ถ้าร้องไห้เสียใจไปเปล่าๆโดยที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้น รูปนั้นเกิดขึ้น เพราะโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ทำให้รูปนั้นเป็นอย่างนั้น

    และนอกจากการยิ้มแย้ม การหัวเราะ หรือการร้องไห้แล้วแม้แต่ความไม่แช่มชื่นของจิต ก็จะทำให้ลักษณะของหน้าหรือกิริยาอาการในขณะนั้นปรากฏเป็นไปด้วยสภาพของโทสมูลจิต ซึ่งเป็นเหตุในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสติระลึก ก็สามารถที่จะรู้ความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในภูมิที่มีขันธ์ ๕เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมขณะหนึ่ง ต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึก หรือต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องรู้เฉพาะรูปหนึ่งรูปใดเท่านั้นแต่ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ สติระลึกเป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทุกอย่าง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องของเห-ตุปัจจัยคงจะไม่มีข้อสงสัยอะไร แต่ก็ควรที่จะได้ทราบความพิเศษ หรือความต่างกันของปัจจัยทั้ง ๕ ปัจจัยนั้นด้วย


    หมายเลข 3757
    28 ส.ค. 2558