อารัมมณปัจจัยเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิก
สำหรับปัจจัยที่ ๒ คือ อารัมมณปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก อย่าลืมนะคะ อารัมมณปัจจัย ไม่เป็นปัจจัยแก่รูปเพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกเท่านั้น และสำหรับอารมณ์หรือสิ่งที่จิตรู้ ทุกท่านก็ทราบว่า จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง รูปทุกชนิด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่นามธรรมแต่ละชนิด จิตก็สามารถที่จะรู้ได้ ลักษณะของโทสะ ลักษณะของอิสสา ลักษณะของความตระหนี่ มัจฉริยะ ลักษณะของมานะ ความสำคัญตนแม้ว่าเป็นนามธรรม แต่จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์นั้น ๆสิ่งนั้นๆ ได้ หรือแม้แต่เรื่องราว บัญญัติ การคิดนึก สมมติสัจจะทั้งหลาย จิตก็สามารถที่จะรู้ได้อย่างวิจิตรเป็นวิชาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์หรือโบราณคดีประวัติศาสตร์ต่าง ๆ นั่นก็เป็นเพราะจิตนั่นเองซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้แต่ให้ทราบว่าสำหรับสภาพธรรมใด ซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์นั้นจะเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป
จิตสามารถที่จะรู้ลักษณะของโลภะได้ จิตสามารถที่จะรู้ลักษณะของโทสะได้ใช่ไหมคะ โทสะเป็นเห-ตุปัจจัย ทำให้จิตเกิดร่วมด้วยเป็นโทสมูลจิตและทำให้รูปเกิดร่วมด้วยโดยความเป็นเห-ตุปัจจัย แต่ไม่ใช่โดยความเป็นอารัมมณปัจจัย ถ้าเป็นอารัมมณปัจจัยแล้ว สภาพธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยเพียงเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นแม้แต่สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ความละเอียดก็ต้องรู้ว่า สภาพธรรมนี้เป็นปัจจัยโดยเป็นเห-ตุปัจจัย หรือว่าโดยเป็นอารัมมณปัจจัย ถ้าเป็นอารัมมณปัจจัย หมายความว่า ขณะนั้นมีจิตที่กำลังรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น หรือรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้น หรือรู้ลักษณะของอโลภะในขณะนั้นรู้ลักษณะของอโทสะในขณะนั้นในขณะนั้นเหตุหนึ่งเหตุใดใน ๖ เหตุนั้นจึงเป็นอารมณ์ โดยเป็นอารัมมณปัจจัยของจิต
นี่ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจขึ้น สำหรับปัจจัยที่ ๒ ว่าต่างกับปัจจัยที่ ๑ ในเมื่อได้เรียนถึง ๕ ปัจจัยแล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาความต่างกันของปัจจัยทั้ง ๕ ด้วยว่า สำหรับปัจจัยที่ ๑ต่างกับปัจจัยที่ ๒อย่างไร