อโมหเหตุ เป็น อธิปติปัจจัย


    และสำหรับปัจจัยที่ ๓ คือ อธิปติปัจจัย ก็ให้ทราบว่า เจตสิก ๖ ดวงเป็นเห-ตุปัจจัยจริงแต่เฉพาะเจตสิกดวงเดียวที่เป็นอโมหะ หรือปัญญาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นอธิปติปัจจัยได้

    นี่คือการที่ฟังแล้วไม่ลืมแล้วเข้าใจ แล้ววันหนึ่งๆ ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตคิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วพิจารณา จนเป็นความเข้าใจที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้เห็นความเป็นอนัตตา

    จุดประสงค์ทั้งหมดของการฟังธรรมจะโดยย่อ หรือโดยละเอียดโดยพิสดารประการใดก็เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นอัตตา หรือเป็นตัวตนเท่านั้น จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    ที่กล่าวว่า สำหรับเหตุ ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑โมหเจตสิก ๑ ไม่เป็นอธิปติปัจจัยสำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย และสำหรับฝ่ายกุศล คือ โสภณเหตุ อโลภะ คือ ความไม่โลภ ความไม่ติด อโทสะ คือ ความไม่โกรธ อโมหะ คือ ความไม่หลง เป็นเหตุได้แต่สภาพธรรมที่จะเป็นอธิปติคือ เป็นสหชาตาธิปตินั้น ได้แก่ ปัญญาเจตสิกคือ อโมหเหตุเท่านั้นที่จะเป็นอธิปติปัจจัยได้

    นี่ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ต่างกับสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี เพราะเหตุว่า โลภะเป็นเหตุได้ พอใจไม่ยาก หรือไม่ลำบาก ความพอใจ ความชอบใจ ใครว่ายากลำบากบ้าง ลืมตาขึ้นมา ก็พอใจแล้ว ยินดีแล้ว ที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วในชีวิตประจำวัน ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ยากที่จะพอใจ ไม่ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอธิปติ สำหรับสหชาตาธิปติ ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิต ซึ่งประกอบด้วยเหตุ ตั้งแต่ ๒ เหตุขึ้นไป จึงจะเป็นอธิปติปัจจัยได้ หมายความว่าเป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง

    เพราะฉะนั้นสำหรับเหตุ ๕ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ หรือแม้ทางฝ่ายโสภณ ทางฝ่ายดี อโลภเหตุ อโทสเหตุ ก็ไม่สามารถที่จะมีกำลังเป็นอธิบดีได้ ทุกท่านรู้สึกว่า โลภะมีกำลัง ใช่ไหมคะ เป็นเพียงเหตุ แต่ไม่ใช่อธิบติ คือ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นหัวหน้าที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่น เป็นไปตามกำลังของตน แต่เป็นเหตุได้ ทำให้เกิดเหตุ ทำให้เกิดกุศลจิต อกุศลจิต ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลและกุศลได้ แต่ว่าไม่ใช่อธิปติ ถ้าเป็นอธิปติปัจจัย ซึ่งเป็นสหชาตาธิปติ จะต้องได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก วิมังสา คือ ปัญญาเจตสิก และจิต ซึ่งประกอบด้วยเหตุ ตั้งแต่ ๒ เหตุขึ้นไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อศึกษาเรื่องเห-ตุปัจจัย และศึกษาเรื่องอธิปติปัจจัย ก็ควรที่จะเปรียบเทียบดูความต่างกันว่า เพราะเหตุใดสภาพธรรมที่เป็นเห-ตุปัจจัยนั้น เฉพาะปัญญาเจตสิกเท่านั้นที่จะเป็นอธิปติปัจจัยได้

    ท่านผู้ฟังลองคิดดูว่า ตามปกติโลภะเกิดไม่ยาก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ยินดีพอใจถึงแม้ว่าจะมีกำลัง คือ อาจจะพอใจมากก็ตาม แต่ถ้าไม่มีฉันทะ หรือไม่มีวิริยะแล้ว จะขาดความขวนขวายหรือความขะมักเขม้น หรือว่าความพากเพียรเพื่อที่จะได้สิ่งนั้นเพราะเหตุว่าลักษณะของโลภะ ก็เป็นสภาพที่พอใจ ความพอใจมีอยู่เสมอเป็นประจำ อะไร ๆ ก็พอใจแต่ว่ายังไม่ได้เกิดความขะมักเขม้น ยังไม่ได้เกิดความสนใจ หรือว่ายังไม่เกิดความพากเพียรเพื่อที่จะได้สิ่งนั้น แต่ในขณะใดซึ่งสภาพธรรมที่เป็นอธิปติปัจจัยเกิดขึ้น ก็จะทำให้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเกิดขึ้น เพราะธรรมที่มีฉันทะบ้าง หรือวิริยะบ้าง หรือปัญญาบ้าง เป็นอธิบดี


    หมายเลข 3759
    28 ส.ค. 2558