การเกิดดับสลับกันของกุศลและอกุศลจิต


    ข้อสำคัญที่สุดปัจจุบัน คือ ขณะนี้ต้องรู้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกที่จะศึกษาก็ไม่มีวันรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และสภาพธรรมละเอียดมาก แม้แต่เพียงขณะนี้เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะอะไร เพราะกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว อกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และก็เกิดสลับกันอยู่ อกุศลจิตดับไป กุศลจิตเกิด กุศลจิตดับไป อกุศลจิตเกิด เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว และจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่ศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้น บางท่านใคร่จะสงบโดยไม่รู้ลักษณะของจิตว่า ขณะใดจิตสงบ ขณะใดจิตไม่สงบก็เป็นไปไม่ได้ที่จะอบรมเจริญความสงบให้มากขึ้น บางท่านก็คิดว่าการจะเจริญสมถภาวนา เมื่อไรจะได้ฟังเสียที เพื่อจะได้สงบเร็วๆ โดยไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังฟังสงบหรือเปล่า ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่รู้ลักษณะของจิตว่าสงบไหม จะอบรมเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่า ความสงบจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยอะไร การศึกษาธรรมทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะไหม ขณะที่กำลังเข้าใจในสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นสงบไหม ถ้าไม่รู้ว่า ขณะเหล่านี้เป็นความสงบ และใคร่ที่จะไปแสวงหาความสงบอื่น โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะใดจิตสงบ และควรจะอบรมเจริญความสงบโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่กำลังทำให้จิตสงบอยู่ในขณะที่ฟังธรรม ซึ่งเป็นธัมมานุสติ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าไม่ศึกษาลักษณะของจิต มุ่งหน้าต้องการจะสงบ โดยไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ไม่มีวันที่จะสงบ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นเพียงลักษณะของอกุศลจิตที่ต้องการความสงบโดยไม่รู้ลักษณะของความสงบ

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ใจร้อน อยากจะสงบเร็วๆ อยากจะฟังเรื่องของสมถภาวนาเร็วๆ จะได้สงบ ขอให้ทราบว่า ขณะที่กำลังฟังสงบไหม ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่สงบ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้อบรมความสงบยิ่งขึ้น แต่รู้ลักษณะความผ่องใสของจิตซึ่งปราศจากอกุศลในขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบของจิตซึ่งเกิดจากการฟังธรรม ก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เจริญความสงบ เพราะระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งจิตสงบขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการภาวนาทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะทำโดยไม่เข้าใจถูกต้องแม้ลักษณะของความสงบของจิตใจที่จะไปเจริญการนั่ง และให้จิตจดจ้องด้วยความพอใจ ด้วยความต้องการ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของความสงบของจิต จะไม่ทำให้จิตสงบ แต่ทำให้เกิดสภาพของอกุศลที่เป็นสภาพของอวิชชา คือ การไม่รู้อะไรว่า ขณะนั้นอะไรเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น และบางครั้งก็จะเป็นปรากฏการณ์แปลกๆ ซึ่งผิดปกติซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการอบรมเจริญปัญญา หรือไม่ใช่ลักษณะความสงบของจิตซึ่งสามารถอบรมเจริญได้แม้ในชีวิตประจำวัน

    บางท่านก็กล่าวว่า ไปเสียก่อนเถอะ ไปแสวงหาอาจารย์ แล้วอาจารย์ท่านก็สอนเองว่า ความสงบขั้นสูงต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างไร พึ่งบุคคลอื่นโดยคิดว่า ไปเสียก่อนแล้วท่านจะสอนให้ปฏิบัติอย่างไร ความสงบขั้นสูงจึงจะเกิดได้ แต่ขอให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ความสงบของใคร ความสงบของท่านต้องเกิดจากปัญญาของท่านที่เข้าใจเรื่องความสงบว่า ความสงบนั้นคือจิตที่เป็นกุศลที่สงบจากอกุศล ในขณะที่ให้ทานก็เป็นความสงบของจิต แต่เป็นไปในการให้ ในขณะที่วิรัติทุจริตก็เป็นความสงบของจิตซึ่งเป็นไปกับงดเว้นทุจริต แต่ในชีวิตประจำวันท่านไม่ได้ให้ทานตลอดเวลา ท่านไม่ได้วิรัติทุจริตตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีวัตถุที่จะให้วิรัติ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้สภาพของจิตจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศลแล้วเจริญอบรมกุศลซึ่งเป็นการภาวนา ซึ่งไม่ใช่ขั้นของทานหรือศีล แต่เป็นขั้นที่จะให้จิตสงบในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นบาท เป็นปัจจัยให้ท่านเป็นผู้สงบขึ้น โดยไม่หวังว่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรอย่างนี้ ไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใดแล้วอาจารย์ก็จะทำให้ท่านปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดจนกระทั่งท่านสามารถสงบขึ้นได้อย่างขั้นสูง นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และถ้าปกติประจำวันไม่สงบ แล้วจะไปหวังว่า ไปที่หนึ่งที่ใดแล้วจะสงบ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อปกติประจำวันไม่มีปัจจัยของความสงบเลย แต่ถ้าชีวิตปกติประจำวันอย่างนี้ท่านมีปัญญาเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งมีลักษณะสงบ ย่อมสามารถจะระลึกแล้วเจริญความสงบของจิตซึ่งท่านรู้ว่า ขณะนั้นสงบให้สงบยิ่งขึ้น เพิ่มความสงบในชีวิตประจำวันได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของจิตที่สงบก่อนที่จะเจริญสมถภาวนาได้


    หมายเลข 3772
    3 ส.ค. 2567