ไตรสรณะ - ไตรสิกขา - ไตรลักษณะ
ผู้ฟัง ลักษณะคำว่า ไตร ในพระพุทธศาสนาก็มีมาก เรียนถามถึง ๓ ไตร คือ ไตรสรณะ ไตรสิกขา ไตรลักษณะ ในความหมายทั้ง ๓ ประการ คือบางครั้งก็ลืมความหมาย แสดงว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ
อ.อรรณพ เราเป็นชาวพุทธ คงเคยกล่าว พุทธัง สรณัง คัจฉามิ คือการขอถึงซึ่งรัตนะ ก็คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ หรือพระไตรรัตน์ นั่นเอง ซึ่งพระพุทธรัตนะ สัมมาสัมพุทธรัตนะ เลิศกว่าพุทธรัตนะ ทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดงธรรม ประกาศ พระศาสนา ธรรมรัตนะ แก้วก็คือพระธรรม พระธรรมซึ่งก็เป็นคำสั่งสอน เพื่อรู้ความจริงในขณะนี้ พระสังฆรัตน ก็คือพระอริยบุคคลทั้งหลาย ทั้งพระเสขะ และพระอเสขบุคคล ซึ่งได้บรรลุธรรม ตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และ สังฆรัตนะ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจของพุทธบริษัท ผู้ที่มีความศรัทธา ผู้ที่ศึกษาธรรม แล้วเห็นในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคุณค่าที่สูงสุดของพระธรรม เพื่อที่จะดับกิเลสในสังสารวัฏ แล้วก็คุณของพระอริยสงฆ์ ซึ่งท่านได้ตรัสรู้ แล้วก็ได้เกื้อกูลในทางธรรมกับบุคคลต่างๆ สืบต่อกันจนมาถึงรุ่นเรา
เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจถึงไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ผู้ที่มีความเห็นประโยชน์เห็นในคุณค่าก็ขอถึงซึ่งแก้วทั้ง ๓ ประการ เป็นที่พึ่ง ก็คือไตรสรณคม คือการขอถึงซึ่งที่พึงทั้ง ๓ ประการ แก้วทั้ง ๓ ประการนี้ เลิศกว่ารัตนะใดๆ ของพระเจ้าจักรพรรดิ เสียด้วยซ้ำไป เพราะว่ารัตนะเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังมาก ที่ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ก็ไม่สามารถนำออกจากสังสารวัฏได้เลย สำหรับผู้ที่มีศรัทธาขอถึงซึ่งพระรัตนตรัยแล้ว การที่จะอบรมเจริญปัญญา ความรู้ ก็คือไตรสิกขานั่นเอง ซึ่งได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา ก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือการอบรมเจริญวิปัสสนา นั่นเอง เพราะว่าในขณะที่สติปัฏฐานเกิด พร้อมทั้งองค์ที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
อธิศีล ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการรักษาศีล เป็นเพียงข้อๆ ศีล ๕ ศีล ๘ แต่ความหมายของศีลกว้างมาก เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วท่านอาจารย์ท่านก็ได้ทิ้งคำถามไว้ให้พวกเราว่ากุศลจิต เป็นศีลหรือเปล่า นั่นแสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางของคำว่าศีล ซึ่งก็ครอบคลุมกุศลธรรมทั้งหมด แต่ศีลที่จะเป็นอธิศีลจริงๆ ก็คือในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นหรือรู้ลักษณะสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เป็นอินทรียสังวรศีล ซึ่งก็เป็นการสำรวม สังวร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งนัยยะของสมถะ และนัยยะของวิปัสสนา อธิจิตตสิกขา ก็คือ ฌานจิตขั้นต่างๆ ซึ่งไม่ใช่กุศลขั้นกามาวจร แต่เป็นกุศลจิตขั้นรูปาวจรหรืออรูปาวจร แต่ก็ยังไม่ใช่อธิจิตโดยนัยยะในทางพระพุทธศาสนา เพราะว่าอธิจิตจริงๆ ก็คือขณะที่สติปัฏฐานเกิด วิปัสสนาญาณต่างๆ เกิด ขณะนั้นสัมมาสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิก เป็นองค์มรรค สัมมาวายามะ ความเพียร ก็เพียรที่จะรู้ในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนอธิปัญญาสิกขา ก็คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ซึ่งก็เป็นองค์มรรค เริ่มตั้งแต่ขั้นเจริญสติปัฏฐาน ก็เริ่มที่จะรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยปัญญา แล้วก็วิตกที่เป็นกุศล ที่ประกอบด้วยสติปัฏฐานนั้น
เพราะฉะนั้นไตรสิกขา ก็คือการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ทั้งอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา รวมความแล้วก็คือการอบรมเจริญมรรค นั่นเอง ไตรสิกขาก็คือสติปัฏฐานนั่นแหละคือไตรสิกขา ซึ่งระดับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ ก็มีหลายขั้น สำหรับ สติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ ขั้นแรกๆ ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ละเอียดขึ้น รู้ความเกิดดับของสภาพธรรม ก็จึงรู้ในไตรลักษณะ ก็คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแค่เราจะสนใจว่าพระพุทธศาสนา มีคำว่า ไตรกี่แบบ มีมากมาย แต่ความหมายจริงๆ นั้น ก็เป็นสิ่งที่ท่านแสดงไว้เพื่อความเข้าใจธรรม แล้วก็สอดคล้องกันด้วย