การสอนธรรมแบบผิดๆ เป็นโทษอย่างไร
ผู้ฟัง การสอนธรรมที่ผิดๆ เป็นการทำทุจริตหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ เป็นโทษค่ะ อย่าลืมนะคะ เป็นโทษ
ผู้ฟัง ผู้สอนเข้าใจว่า คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูก และมีความปรารถนาดี และเมตตาผู้อื่นถึงสอน
ท่านอาจารย์ อันนี้ขอให้แยกกัน ขณะที่ปรารถนาดี หวังดีนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ขณะที่เข้าใจธรรมผิดเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นมโนกรรม ถ้าเข้าใจธรรมผิด เพราะฉะนั้นไม่ได้อยู่ที่ความเข้าใจผิดของตนเองผู้เดียว ยังขยายออกไปถึงบุคคลอื่นทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดด้วย
ผู้ฟัง ในขณะที่สอนนั้นก็เป็นวจีทุจริต
ท่านอาจารย์ เป็นมโนกรรมทางวจีทวาร
ผู้ฟัง เป็นอกุศลกรรมบถหรือครับ
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลกรรม
ผู้ฟัง แล้วแต่ความรู้สึกใช่ไหมครับ บางขณะก็มีจิตปรารถนาดี ขณะจิตนั้นก็ไม่เป็นอกุศลกรรม ก็สลับกันไป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแล้วแต่ผู้ฟังด้วยที่จะช่วยผู้พูดธรรมไม่ให้ได้รับโทษมาก คือพิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง และเลือกเชื่อสิ่งที่ถูกต้อง อันนี้เป็นทางช่วยผู้พูดธรรมที่คลาดเคลื่อนหรือที่เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าเรื่องของวจีกรรม เมื่อได้กล่าวไปแล้ว โทษมากหรือโทษน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับการทำลายประโยชน์ เมื่อผู้ได้ฟังเชื่อมาก เสียประโยชน์มาก ก็เป็นโทษมาก แต่ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วพิจารณาในเหตุในผล แล้วก็เลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผล สิ่งที่ไม่มีเหตุมีผลก็ไม่เชื่อ ผู้มีความเห็นผิดที่กล่าวผิดผู้เดียวก็ย่อมได้รับโทษจากความเห็นผิดของตัวเอง แต่ผู้พิจารณาแล้ว เลือกเชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผล ก็ช่วยบรรเทาโทษที่เกิดเพราะวาจาผิดของบุคคลนั้นได้ เช่นเดียวกับเรื่องของมุสาวาท ถ้าใครพูดสิ่งที่ไม่จริง ทำให้คนอื่นเชื่อ เกิดความเข้าใจผิด เสียหายมาก ก็เป็นโทษมาก แต่ถึงเขาจะพูดสิ่งที่ไม่จริง แต่คนฟังไม่เชื่อ โทษก็น้อยกว่าการที่ทำให้คนอื่นเชื่อผิด