เวลาที่เจ็บหรือสบาย ระลึกอย่างไร


    ผู้ฟัง จะระลึกอย่างไรถึงจะบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ อย่างเราหยิกตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นตัวเรา แล้วจะเป็นรูปได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ หยิกตัวเอง รู้สึกว่าเจ็บหรือรู้สึกว่าเป็นตัวเราคะ

    ผู้ฟัง รู้สึกเจ็บ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมคือเจ็บ ถ้าไม่หยิกจะเจ็บไหม

    ผู้ฟัง ไม่เจ็บ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเจ็บเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีลักษณะเป็นเพียงความเจ็บ ทำไมถึงว่าลักษณะที่เจ็บนั้นว่าเรา

    ผู้ฟัง ก็เรารู้สึกไงคะ

    ท่านอาจารย์ เราคิด เรายึดถือความเจ็บว่าเป็นเรา แต่สภาพจริงๆ เป็นความรู้สึกเจ็บเท่านั้นเอง จริงไหมคะ

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเราไม่คิดว่า เราเจ็บ ก็ยังเจ็บอยู่ แล้วจะไม่เป็นเราได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ สภาพเจ็บมีจริง ไม่ใช่ไม่จริง ลักษณะเจ็บต่างกับลักษณะที่รู้สึกสบาย เป็นสภาพธรรมคนละชนิด เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ความเจ็บเกิดขึ้น ถ้าปัญญาระลึกรู้ลักษณะที่เจ็บ จะไม่ยึดถือลักษณะที่เจ็บนั้นว่าเป็นเรา เพราะว่าความเจ็บเป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับลักษณะของสภาพธรรมอื่น ซึ่งสภาพธรรมทุกอย่างเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้ความเจ็บเกิดขึ้น ความเจ็บก็ไม่เกิด เวลาที่ความเจ็บไม่เกิด เราอยู่ที่ไหน ถ้าว่าความเจ็บนั้นเป็นเรา เวลาที่ความเจ็บไม่เกิด เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง เราก็รู้สึกสบาย ก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความสบายเกิดขึ้น ก็ไปยึดถือความสบายนั้นว่าเป็นเรา แต่ตามความเป็นจริงลักษณะที่สบายเป็นแต่เพียงลักษณะที่ต่างจากความเจ็บ ในขณะรู้สึกสบาย จะรู้สึกเจ็บไม่ได้ คนละขณะ ความสบายหมดไปแล้ว เราอยู่ที่ไหน เราก็ตามไปอยู่ที่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยความไม่รู้ว่า สภาพธรรมเกิดแล้วหมดไป ความสบายจะอยู่ตลอดไปไม่ได้ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าความสบายเป็นเรา เราก็ต้องหมดไปด้วย แต่เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมอื่น ความยึดถือสภาพธรรมอื่นว่าเป็นตัวตนก็ยึดถือสภาพธรรมอื่นต่อไป ด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสภาพธรรมเกิดปรากฏแล้วก็หมดไปอีก หมดไปเรื่อยๆ ทุกขณะ เราจะอยู่ที่ไหนดี มีที่อยู่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ทั้งหมดก็เป็นเรานี่คะ ถ้าสมมติว่าถ้าเราคิดว่า ตัวเราไม่มี แล้วที่มีชีวิตอยู่นี่อะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ความเจ็บ การเห็น ได้ยิน ความคิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลเกิดพร้อมกันร่วมกันในขณะนั้น กุศลต้องดับไปก่อน แล้วอกุศลจึงได้เกิดขึ้น ความรู้สึกเจ็บต้องดับไปก่อน ความรู้สึกสบายจึงจะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ปรากฏที่ยึดถือว่าเป็นเรา ก็ชั่วขณะที่ปรากฏสั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราอยู่ที่ไหน ในเมื่อปรากฏแล้วก็หมดไป หมดไป หมดไปอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ แข็ง เพียงแข็งใช่ไหมคะ เปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ ถ้ากระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง แข็งปรากฏ ลักษณะจริงๆ คือแข็ง แต่ความคิดนึกยึดถือแข็งเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่ลักษณะจริงๆ คือแข็ง เท่านั้นเอง แล้วไหนที่เป็นเรา หรือเราก็คือแข็ง แข็งก็คือเรา สัมผัสกระทบอะไรก็เป็นเราทั้งหมดซิคะ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ใช่เรา อย่างคนเราที่ทำมาหากินเพื่ออะไร ไม่มีตัวเราก็ไม่ต้องทำอะไรเลยซิคะ

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วตามเหตุตามปัจจัย ละหรือดับไม่ได้ ถ้าไม่ดับเหตุปัจจัย เข้าใจไหมคะ เกิดมาแล้วจะทำลายสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยให้หมดไปได้อย่างไร ได้ยินอย่างนี้ ห้ามไม่ให้ได้ยินได้อย่างไร ได้ยินเกิดแล้วนี่ จะห้ามไม่ให้ได้ยินได้อย่างไร เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยให้เกิดได้ยินขึ้น ได้ยินก็เกิดขึ้น แล้วก็หมดไปแล้ว จะไม่ให้หมดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ยับยั้งอะไรไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ใครจะเรียนแพทย์ จะเรียนวิชาการใดๆ ใครจะคิดอย่างไร จะพูดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเราไปทำ ไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมที่เห็น แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ได้ยินแล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวด้วยความเป็นตัวตน ถ้าเอาเรื่องราวทั้งหมดออกไป จะมีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลไหมคะ เห็นแล้วก็ไม่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ยินหมดไปแล้วก็หมดไป ไม่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จะมีตัวตน จะมีเขา จะมีเราได้ไหม ได้ยินหมดไปแล้ว ไม่ต้องไปตามคิดว่า เป็นคนนั้นพูด คนนี้พูด เฉพาะได้ยินเท่านั้น ปรากฏแล้วก็หมดไป จะมีตัวตนได้อย่างไร ถ้าไม่มีเรื่องราว แต่ถ้าเห็นแล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราว พอได้ยินก็คิดถึงสิ่งที่ได้ยิน เป็นเรื่องเป็นราว

    เพราะฉะนั้น เรื่องราวทำให้เกิดความยึดถือว่า เป็นตัวตนขึ้น


    หมายเลข 3805
    28 ก.ค. 2567