โลภะ กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย


    โลภเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม เพราะเหตุว่าอธิปติปัจจัยมี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัยและอารัมมณาธิปติปัจจัย อย่าลืมคำว่า “อธิบดี” อธิบดีในภาษาไทยซึ่งใช้กันบ่อย ๆ แต่ถ้าจะศึกษาธรรมแล้ว จะต้องเข้าใจชัดและตรงถ้ากล่าวถึงอธิปติปัจจัยต้องมีสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมว่า สภาพธรรมชนิดใดเป็นอธิปติประเภทใด ถ้ากล่าวถึงสหชาตาธิปติปัจจัยแล้ว ได้แก่ นามธรรมเท่านั้น และได้แก่สภาพธรรม ๔ ประเภท คือ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ชวนจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ อีก ๑และปัญญาเจตสิก อีก ๑นั่นคือสหชาตาธิปติปัจจัย

    โลภเจตสิก โทสเจตสิกเหล่านี้ไม่ใช่สหชาตาธิปติปัจจัย แต่เมื่อกล่าวถึงจิต โลภมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย และเมื่อกล่าวถึงอารัมมณาธิปติปัจจัยโลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกก็ตาม เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม ได้ ทุกคนนี้ไม่ละเว้นที่จะชอบโลภะ ทราบจากการศึกษา และการฟังว่าเป็นโทษ เป็นอกุศล โดยขั้นการฟัง ชั่วครู่เดียวโลภมูลจิตเกิดแล้ว โลภเจตสิกเกิดแล้ว โลภมูลจิตก็เป็นอธิปติปัจจัยแล้ว และโลภะนี้เป็นที่ต้องการจริงๆ มีใครบ้างซึ่งไม่ต้องการโลภะ อยากให้หมดไปเลยเสียวันนี้ ตามความเป็นจริง ขณะใดที่ยังต้องการอาหารรสอร่อย ขณะนั้น โลภะก็ยังหมดไม่ได้ ขณะใดที่ยังมีเยื่อใยผูกพันในสัตว์ ในบุคคล ในวัตถุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนั้น โลภมูลจิตเกิดแล้ว เป็นที่พอใจจริง ๆ

    เพราะฉะนั้นอารัมมณาธิปติปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่พอใจอย่างหนักแน่น เป็นที่ต้องการ หรือเป็นที่ประทับใจ ทำให้จิตเจตสิกไม่ละทิ้ง ทำให้ปรารถนาสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโลภเจตสิกหรือโลภมูลจิตก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    นี่โดยนัยของโลภมูลจิตและโลภเจตสิก ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้ฟังพิจารณาถึงเจตสิกอื่นต่อไป


    หมายเลข 3828
    28 ส.ค. 2558