ผู้ถือเอานิมิตอนุพยัญชนะด้วยกิเลส
อ.กุลวิไล ข้อความมาจากอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี เล่มหนึ่ง ภาคสองข้อ ๘๖๓ ว่า ความเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ ๖ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปด้วยจักขุแล้ว เป็นผู้ไม่ถือนิมิต เป็นผู้ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ อภิชชาโทมนัส อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย พึงครอบงำบุคคลผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ อยู่นี้
ท่านอาจารย์ วันนี้เห็นมากี่ขณะ ได้ยินมากี่ขณะ แล้วก็มีการสำรวมคือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็คือว่ากิเลสเจริญขึ้น
อ.กุลวิไล แล้วท่านกล่าวถึงว่าเป็นผู้ที่ไม่ถือนิมิต เป็นผู้ไม่ถือในอนุพยัญชนะ ท่านให้ข้อความขยายความในส่วนของอรรถกถา ว่าผู้ถือนิมิตได้แก่ ย่อมถือนิมิตว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีความงามเป็นต้น ด้วยอำนาจฉันทราคะ ไม่ดำรงอยู่ในรูปเพียงการเห็น เท่านั้น ผู้ถือในอนุพยัญชนะ ได้แก่ ถือเอากิริยาอาการ ต่างๆ ด้วย มือ เท้า การยิ้ม การพูด การมองดู การเหลียวซ้าย และขวา เป็นต้น อันได้โวหารว่าอนุพยัญชนะ เพราะเครื่องปรุงของกิเลสทั้งหลาย คือเพราะกระทำกิเลสให้ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ทั้งวันนี้หรือเปล่า
อ.กุลวิไล ทั้งวัน ขณะที่เราหลงลืมสติ ก็คือขณะที่เป็นไปใน ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ด้วยการที่ว่า เป็นสัตว์บุคคลตัวตน แล้วก็มีความพอใจในสิ่งที่เห็นทางตา ได้ยินทางหู ซึ่งก็คือขณะที่หลงลืมสตินั่นเอง
ท่านอาจารย์ ทั้งนิมิตทั้งอนุพยัญชนะเลย
อ.กุลวิไล ท่านเตือนให้เราพิจารณาได้ว่า ขณะนี้ถ้าเราเห็นแล้วเป็นสัตว์บุคคลตัวตน แล้วมีความติดข้องในสิ่งที่เห็นทางตา ขณะนั้นก็เป็นขณะที่เราหลงลืมสติ เพราะไม่ใช่เป็นขณะที่รู้ในลักษณะสภาพธรรมที่เป็นจริง
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็เห็นชัดทั้งนิมิตอนุพยัญชนะ ยังไม่พอ ตอนเย็นกลับบ้านก็เปิดโทรทัศน์ นิมิตพยัญชนะเต็มเลย เรื่องผี เรื่องตื่นเต้น เรื่องสนุก เรื่องอะไรก็แล้วแต่ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้วันนี้เป็นอย่างนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีตาก็เห็น ไม่เห็นก็มีความทรงจำว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แล้วก็ยังเห็นอากัปกิริยาต่างๆ ที่ทำให้เกิดอกุศลประเภทต่างๆ ถ้าเป็นอากัปกิริยาที่น่าพอใจ ก็ติดข้อง ถ้าเป็นอากัปกิริยาที่ไม่น่าพอใจของบุคคลหรือต่างก็ขุ่นเคือง แม้แต่วาจาก็ยังขุ่นเคืองได้หมด แล้วก็ติดข้องได้หมด ตลอดเวลาที่มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก