ปุถุชนยังมีโลภะให้ล่วงอกุศลกรรมได้


    ท่านอาจารย์ พระอนาคามีบุคคลยังมีโลภะ แต่ว่าไม่มีอกุศลกรรมบถที่จะให้ไปสู่อบายภูมิตั้งแต่พระโสดาบัน

    เพราะฉะนั้นเรื่องของอภิชฌาหรือโลภะของแต่ละบุคคล ก็ต้องตามระดับขั้น แต่ยังเป็นปุถุชนอยู่ โลภะก็มี ถ้าจะใช้คำว่า อภิชฌาสำหรับปุถุชน ก็ต้องมีทั้งที่เป็นโลภะธรรมดา หรือที่เพ่งเล็งต้องการอยากได้ของของบุคคลอื่นถ้าเป็นอกุศลกรรม แต่ถ้าไม่ใช่อกุศลกรรม ก็เป็นเพียงความยินดี ต้องการ ไม่สละวัตถุที่กำลังเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ที่นี้ในธรรมบท ท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นโลภะ ยังไม่ล่วงกรรมบถ ต่อเมื่อมีจิตคิดว่า ไฉนหนอสิ่งนี้จะเป็นของเรา กรรมบถถึงจะแตก ท่านแสดงว่าองค์ของอภิชฌามี ๒ ได้แก่ สิ่งของเป็นของคนอื่น ๑ มีจิตน้อมมาเพื่อตน ๑ แต่สิ่งของที่สวยๆ งามๆ เห็นแล้ว ต้องเห็นว่าเป็นของสวย มีความชื่นชมยินดีในสิ่งของนั้น แต่ในขณะที่ชื่นชมยินดีสิ่งของนั้น อภิชฌายังไม่แตก เป็นเพียงโลภะ ต่อเมื่อใดมีจิตที่น้อมมาว่า ไฉนหนอสิ่งนี้พึงเป็นของเรา ช่วงนั้นกรรมบถถึงจะแตก

    ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่นำเรื่องนี้มากล่าวขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถทางมโนทวาร ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียด ที่ว่า “ไฉนหนอ สิ่งนี้พึงเป็นของเรา” ถ้าผิดเพี้ยนไปจากประโยคนี้ เหมือนกันไหม หรือว่าต้องพูดอย่างนี้เท่านั้น ถ้าไม่พูดประโยคนี้ เป็นประโยคอื่น ยังคงเป็นมโนกรรมอภิชฌาหรือไม่ การที่จะวัดว่า อกุศลจิตหรืออกุศลเจตนานั้นถึงขั้นอกุศลกรรมหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามารดาบอกลูกว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน เป็นอกุศลกรรมบถไหมคะ เป็นวาจาที่น่าฟังเผ็ดร้อนไหมคะ กล่าวออกไปแล้วด้วย ในขณะนั้นจิตเป็นอะไร เวลาที่รักลูก เมตตาลูก กับเวลาที่โกรธ วาจาต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้ามารดาท่านหนึ่งจะบอกบุตรว่า เดี๋ยวจะให้เสือกินซะ ขณะนั้นจิตเป็นโทสมูลจิต มีกำลังที่จะทำให้ไหววาจาทางวจีทวารออกไป ครบองค์ของวจีทุจริตหรือเปล่า แต่ว่าเป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า

    การพูดมีหลายอย่าง หลายลักษณะ พูดเล่น พูดจริง ทีเล่นทีจริง บางทีบางท่านอาจจะกลั่นแกล้งคนอื่นนิดๆ หน่อยๆ เป็นอกุศลกรรมบถครบองค์ไหม จะพาไปสู่อบายภูมิ สมควรไหมคะ หรือว่าไปได้ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีโลภมูลจิตเกิดขึ้น พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่เป็นทุจริตกรรม ถ้าต้องการซื้อหามาในทางสุจริต ก็เป็นแต่เพียงโลภมูลจิต แต่ถ้าถึงกับคิดขโมย มีแผนการจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะได้ แล้วพูดว่า ไฉนหนอของนี้พึงเป็นของเรา ถ้าพูดเท่านั้นว่า แหม ของนี้สวย ทำอย่างไรจะได้ อย่างนี้จะเป็นทุจริตกรรมไหมคะ แต่ต้องมีอกุศลเจตนาที่จะกระทำทุจริตจริงๆ วางแผนการหรือคิดในใจที่จะประกอบทุจริตกรรม ขณะนั้นก็เป็นมโนกรรม ต้องมีการกระทำที่สมควรแก่การที่จะเป็นอกุศลกรรมบถ

    เพราะฉะนั้นเปลี่ยนคำ เปลี่ยนประโยคได้ จะพูดหรือไม่พูดก็ได้ เพียงแต่คิดแต่ไม่ใช้ประโยคนี้ก็ได้ หรือถ้าจะใช้ประโยคนี้ แต่ในใจไม่ได้คิดที่จะทำทุจริต ได้ไหมคะ เพราะฉะนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับอกุศลเจตนา โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถ อย่าลืมนะคะ ว่าเป็นเรื่องของทุจริตกรรม

    สำหรับพยาปาท ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าโกรธ ทุกคนโกรธ แล้วยังไม่มีการคิดทำร้ายคนอื่น ขณะนั้นก็ยังเป็นเพียงอกุศลเจตนาที่เป็นอกุศลจิต ยังไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ แต่ถ้าคิดจริงๆ ที่จะทำร้ายจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลกรรมบถทางใจ และจะล่วงออกเป็นทางกายหรือทางวาจา เมื่อการกระทำนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่ล่วงออกไปก็เป็นมโนกรรมทางมโนทวาร


    หมายเลข 3855
    2 ส.ค. 2567