ปัญญารู้ชัดตรงตามความเป็นจริง
เวลาที่มีความรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเกิดความยินดีพอใจต้องการ แม้แต่เพียงเอื้อมมือไป หยิบขึ้นมาดู ในขณะนั้นที่มีลักษณะสภาพที่พอใจหรือต้องการ สภาพที่พอใจหรือต้องการนั้นเป็นโลภะ แล้วในขณะใดที่เป็นโลภะ ต้องมีโมหะ ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะเห็นความยาก ความลึกซึ้งของการที่ปัญญาจะแทงตลอด แยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกัน ออกเป็นแต่ละลักษณะจริงๆ ต้องรู้ว่าโมหะเป็นโมหะ โลภะเป็นโลภะ ถ้าคิดว่าโลภะเป็นโมหะ หรือว่าโมหะเป็นโลภะ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ได้ เพราะการที่จะรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ชัดตามความเป็นจริงของลักษณะสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ
ขณะที่หลงลืม ขณะที่ไม่รู้สึกตัว ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง และก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นโมหะ เวลาที่ปัญญารู้ชัดจะไม่ความปะปนเลย ไม่ว่าลักษณะของสภาพเวทนาก็เป็นเวทนาไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนา ทั้งๆที่ยากที่จะรู้ แต่ปัญญาที่รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริงตรงลักษณะของเวทนาว่าเป็นเวทนา ตรงลักษณะของโลภะว่าเป็นโลภะ ตรงลักษณะของศรัทธาว่าเป็นศรัทธา ตรงลักษณะของสัญญาว่าเป็นสัญญาตรงลักษณะของปัญญาว่าเป็นปัญญา นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ