อพิชฌา ล่วงออกมาได้อย่างไรบ้าง
ผู้ฟัง ผมอยากจะทราบว่า อภิชฌาล่วงทางทวารไหน
ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงคิดว่า อยากจะได้ของของคนนั้นมาเป็นของตน คิดไป ๑๐ ปี ไม่กระทำอะไรเลย แล้วมีทางที่ของของคนนั้นมาเป็นของท่านได้ไหม
ผู้ฟัง คิดในลักษณะที่จะซื้อ หรือจะขโมย
ท่านอาจารย์ สำหรับโลภมูลจิตเป็นสภาพที่พอใจ ติดข้อง ต้องการ อยากจะได้ ไม่สละสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม นั่นคือลักษณะของโลภมูลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมต้องเป็นอกุศลเจตนา ความตั้งใจที่เป็นอกุศลด้วย ถ้าตั้งใจจะซื้อ ตั้งใจจะขอ ไม่เป็นอกุศลกรรม ตั้งใจเป็นทุจริตที่จะได้ของนั้นมาในทางทุจริต ไม่ใช่สุจริต ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่เป็นอกุศลกรรม ถ้าเป็นมโนกรรม คือ คิดเฉยๆ ไม่มีการกระทำล่วงออกไปทางกาย ทางวาจาอย่างหนึ่งอย่างใด จะมีทางได้ของของคนนั้นไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นคิด แต่เมื่อมีทุจริตกรรมเกิดขึ้น การกระทำเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม ต้องพิจารณาเพื่อจะแยกเหตุการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กรรมนั้นๆ การกระทำนั้นๆ ที่ได้กระทำไปแล้วเป็นกายกรรม หรือเป็นมโนกรรม
ถ้าเป็นกายกรรม ก็ไม่ตั้งใจไว้ก่อน เกิดขึ้นทันทีได้
ผู้ฟัง ตกลงอภิชฌา ผมเข้าใจว่า ล่วงทางมโนกรรมที่คิดจะขโมย
ท่านอาจารย์ องค์ของอภิชฌามีอะไรบ้างคะ อภิชฌามีองค์ ๒ คือ ปรภัณฑะ สิ่งของของผู้อื่น ๑ อัตตโนปรินามนันจะ น้อมมาเพื่อตน ๑ ฟังดูเหมือนแค่ ๒ แต่ ๒ สำหรับวินิจฉัยว่า เหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกายกรรม หรือเป็นมโนกรรม เพราะเป็นแต่เพียงกายกรรมก็ได้ หรือเป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้น องค์ ๒ ของมโนกรรมเพื่อวินิจฉัยกรรมนั้นเป็นมโนกรรม ไม่ใช่กายกรรม จะไม่อยู่เฉยๆ เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว ที่จะวินิจฉัยว่า เป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ก็ตามองค์ของมโนกรรม และตามองค์ของกายกรรม ต้องมีการกระทำสำเร็จ อย่างบางท่านที่แสดงไว้ในอรรถกถาว่า เป็นตัวอย่างเท่านั้นว่า ผู้มีอิทธิฤทธิสามารถทำลายคนในตำบล ในหมู่บ้าน ในนครนั้นได้ทั้งนครด้วยใจ คือ อิทธิฤทธิ์ แต่อย่าลืมว่า ต้องล่วงออกไปที่จะให้คนเหล่านั้นสิ้นชีวิตด้วย ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เลย แล้วถ้าดูตามตัวอย่างในอรรถกถาทั้งหมดเป็นเรื่องของกรรมที่สำเร็จทางกาย หรือทางวาจาทั้งนั้น แต่ที่วินิจฉัยว่า กรรมนั้นเป็นมโนกรรมหรือเป็นกายกรรม ก็ดูที่องค์ว่า องค์ของมโนกรรมคืออย่างนี้ ต้องมีความตั้งใจที่เป็นอกุศลที่จะกระทำ ถ้าเป็นพยาปาทะ ต้องมีความพยาบาท ความผูกโกรธ ความคิดให้บุคคลนั้นพินาศหรือเสียประโยชน์ ถ้าโกรธแล้วกล่าวคำที่ยับยั้งไม่ได้ ทุจริตทางวาจาเป็นคำหยาบ เป็นวจีทุจริต เป็นมโนกรรมหรือเปล่า หรือเป็นวจีกรรม ก็เป็นวจีกรรม แต่ถ้าตั้งใจไว้ก่อนว่าจะทำ พูดอย่างไรบ้างกับคนนี้ เพราะบางคนสามารถฆ่าคนอื่นได้ด้วยคำพูด เจตนานั้นต้องการจะฆ่า แต่วิธีการไม่ฆ่าด้วยอาวุธ แต่จะฆ่าด้วยคำพูด มีคำพูดที่คนฟังฟังแล้วสามารถฆ่าตัวตายได้ หรือฟังแล้วถึงกับหัวใจแตกตายได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของบุคคลนั้นว่า เจตนาของบุคคลนั้นในขณะที่กล่าวคำอย่างนั้น เป็นมโนกรรมหรือเป็นวจีกรรม เพราะเหตุว่ามโนกรรมโดยกายทวาร หรือโดยวจีทวารได้ ไม่ใช่มโนกรรมอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย แต่มโนกรรมก็ต้องมีทวารของมโนกรรมว่า ทางกาย หรือทางวาจา แต่กรรมนั้นเป็นมโนกรรม กับอีกคนหนึ่งไม่ตั้งใจจะฆ่าโจรผู้ร้ายเลย แต่ป้องกันตัว หรือเกิดในขณะนั้น ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน ไม่ทราบว่า บุคคลนี้เป็นผู้ประทุษร้าย แต่เมื่อเขากระทำลงไปแล้ว บุคคลนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม ผลคือมีคนตาย แต่กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม จึงได้วางองค์ของมโนกรรมไว้เป็นเครื่องวัดว่า กรรมที่ได้สำเร็จลงไปนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม มิฉะนั้นก็สับสนระหว่างกายกรรมกับมโนกรรม
ผู้ฟัง ตกลงอภิชฌาเมื่อกี้นี้ มโนกรรมมีแน่ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ จะทำอะไรก็ตามแต่ที่เป็นทุจริตกรรมเกิดขึ้น ก็ต้องวินิจฉัยด้วยว่า ขณะนั้นเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม
ผู้ฟัง ถ้าคิดเฉยๆ ก็เป็นมโนกรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นกระเป๋าเงินตก แล้วก็เก็บ ตั้งใจมาก่อนหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้ตั้งใจ
ท่านอาจารย์ ไม่คืนเจ้าของ
ผู้ฟัง ก็เป็นกายกรรม
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าตั้งใจรู้ว่า คนนี้มีเงินในกระเป๋าเท่าไร มีโอกาสเมื่อไรที่จะได้กระเป๋าเงินนั้น ขณะนั้นเป็นอะไรคะ ก็เป็นมโนกรรม แต่ว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏก็คือทุจริต
เพราะฉะนั้น สำหรับกายกรรมต้องเป็นกายทวาร หรือเป็นทางมโนทวารก็ได้ แต่สำหรับมโนกรรมแล้ว เวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นต้องวินิจฉัยว่า กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม
ผู้ฟัง แต่ลักษณะที่ว่า ไปบ้านคนอื่นเห็นว่า มีสิ่งอื่นที่เราอยากได้ เราคิดขโมย แต่ยังไม่ได้ขโมย
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นมโนกรรม แล้วเมื่อขโมยแล้ว แน่นอนที่สุด กรรมนั้นเป็นมโนกรรม ไม่ใช่กายกรรม
ผู้ฟัง ผมคิดว่า จะเป็นทั้งมโนกรรม และกายกรรมด้วย
ท่านอาจารย์ ทำไมไปรวมกัน ก็แยกกันแล้ว กรรมใดเป็นกายกรรมก็เป็นกายกรรม กรรมใดเป็นมโนกรรมก็เป็นมโนกรรม ต่างกันที่ว่า กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม