ฌานจิตเป็นสิ่งที่ยากจะถึงได้


    แต่ละท่านหวังจะบรรลุฌานจิตไหมคะ ฌานจิตซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคงถึงขั้นอัปปนา แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ โดยไม่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย นั่นเป็นสิ่งที่ยากจะถึงได้ แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าโดยไม่บรรลุฌานมีมากกว่าพระอริยเจ้าที่บรรลุอริยสัจธรรม และบรรลุความสงบของจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตด้วย

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งนั้นการบรรลุถึงอัปปนาสมาธิด้วยความสงบถึงขั้นฌานก็แสนยาก เพราะฉะนั้น ตัวของท่านสามารถสงบได้ถึงขั้นนั้นไหม ถ้าท่านคิดหวังว่าจะได้ ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของความสงบ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ไม่รู้อะไรเลย บางคนก็เป็นเด็กตัวเล็กๆ ก็ไปทำสมาธิกันเป็นแถว และบางคนก็บอกว่า เด็กคนนั้นคนนี้บรรลุถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้วขอให้ท่านคิดดูว่า การให้จิตตั้งมั่นในความสงบอย่างดื่มด่ำ แนบแน่นจริงๆ ถึงขั้นอัปปนาสมาธินั้นต้องประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย เพียงแต่ไปที่สำนักหนี่งสำนักใดแล้วก็จดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ปัญญาอยู่ที่ไหน ปัญญาของใคร และถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะสงบได้อย่างไร ในขณะที่ให้ทานสามารถระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบชั่วขณะที่ให้นั้นหรือเปล่า ในขณะที่วิรัติทุจริตเห็นความสงบที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะที่วิรัติทุจริตนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตแล้วละก็ไม่สามารถจะเจริญสมถภาวนาได้

    เพราะฉะนั้น ในยุคนี้สมัยนี้ ท่านที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมทราบว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสงบพร้อมกับปัญญาเริ่มเกิดขึ้นที่จะสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นความสงบของสติปัฏฐานซึ่งประกอบด้วยปัญญา . ไม่ใช่เพียงความสงบโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ท่านใคร่ที่จะเจริญความสงบในลักษณะใด ท่านจะเจริญความสงบเพียงในขั้นของสมถะ ซึ่งรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือท่านเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และสงบในขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาโดยถ่องแท้ว่า ท่านควรจะสงบอย่างไร ยังมีท่านที่ต้องการจะสงบ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไหมคะ


    หมายเลข 3892
    3 ส.ค. 2567