ปฐวีกสิณ - ความสงบ - ปัญญา
ผู้ฟัง อารมณ์สมถะมีอยู่หลายอย่าง แต่กสิณยังไม่ทราบ กสิณทำให้สงบได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ กสิณมีถึง ๑๐ ปฐวีกสิณ คือ วงกลมที่ทำขึ้นจากดิน ปฐวี แปลว่า ดิน ธาตุดิน และต้องเป็นดินพิเศษที่มีสีที่ทำให้จิตไม่ตกไปสู่อารมณ์อื่น หมายความว่า สามารถผูกจิตไว้กับกสิณนั้นได้ เป็นดินสีอรุณอ่อนๆ และต้องกลึงให้ดีให้เรียบด้วย แต่นั่นหรือคะที่จะทำให้จิตสงบ เห็นไหมคะ เพียงแต่ไปจ้องดูเฉยๆ จิตจะสงบได้ไหม ความสงบต้องอยู่ที่ปัญญา ไม่ใช่อยู่ที่ดินนั้น จริงที่สิ่งนั้นเป็นวัตถุที่ทุกท่านสามารถมองเห็นได้ เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี ก็ไปดูปฐวีกสิณได้ ถ้าอยากจะรู้ว่า ปฐวีกสิณเป็นอย่างไร บางวัดมีที่ทำปฐวีกสิณหรือกสิณอื่นๆ ไว้ ใครๆ ก็ไปดูได้ แต่จะสงบไหม ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบเพราะอะไร
เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็เห็น เช่นเดียวกับอสุภะ แต่ทำอย่างไร หรือมนสิการอย่างไร ความสงบจึงจะเกิดได้ ความสงบไม่ใช่อยู่ที่ต่างคนต่างก็ไปมุงดู หรือไปดูปฐวีกสิณ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตที่สงบเพราะอาศัยปฐวีกสิณนั้นด้วยเหตุใด ทำไมใช้ดิน เพราะเหตุว่ามีอะไรในโลกนี้บ้างที่ปรากฏโดยสภาพของความเป็นรูปที่จะปราศจากดิน ความอ่อน ความแข็งในวัตถุทั้งหลายปรากฏอยู่ทั่วไป บนบ้านก็มีสภาพที่อ่อนแข็ง ที่พื้นหญ้า พื้นสนาม พื้นดิน พื้นโลก รูปทั้งหลายที่จะปราศจากธาตุดินไม่มี รู้อย่างนี้แล้วจิตสงบหรือยัง ถ้าจิตยังไม่สงบ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า รู้แล้ว ฟังแล้ว แต่ก็ไม่ได้สงบ
เพราะฉะนั้น ที่จะสงบต้องเป็นปัญญาที่พิจารณาอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ไปดูปฐวีกสิณ ให้ไปดูกันมากๆ แล้วก็เข้าใจว่า จิตจะสงบได้ ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ถึงว่า นอกจากธาตุดินแล้วก็ไม่มีอะไร ธาตุดินเป็นใหญ่ ปรากฏอย่างกว้างขวางทีเดียว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาที่จะให้จิตสงบก็จะต้องน้อมระลึกถึงสภาพที่แท้จริงของธรรมว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ควรจะเยื่อใยหรือว่าติดข้องในสภาพธรรมนั้น เพราะหวนระลึกถึงสภาพที่แท้จริง คือ เพียงลักษณะของธาตุดินเท่านั้นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าจิตจะระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงดินจริงๆ ที่กายก็เป็นแต่เพียงดินชนิดหนึ่ง ถ้าเอาดินคือกายใส่ลงไปที่เราสมมติว่าดิน อีกไม่นานก็มีลักษณะผสมผสานปนเปกัน เป็นดินเหมือนกัน ไม่มีความต่างกัน
เพราะฉะนั้น โดยแท้จริงแล้ว รูปธรรมทั้งหลายจะต้องมีธาตุดินเป็นใหญ่ เป็นประธาน และลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูป ก็หาสาระอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของธาตุดินในรูปร่างลักษณะต่างๆ ที่กายที่เป็นเนื้อหนังมังสาก็เป็นแต่เพียงลักษณะอาการหนึ่งของธาตุดิน ดินที่เราเรียกกันว่าดิน ก็เป็นลักษณะอาการหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของธาตุดินชนิดหนึ่ง แต่โดยสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะทั่วไปแล้ว ธาตุดินก็คือธาตุดิน ไม่ว่าจะอยู่ที่กาย หรือสิ่งที่เราเรียกว่าดิน
เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาจึงต่างกัน สมถะอาศัยสัญญา ความจำจากสิ่งที่ปรากฏแล้วนึกถึงธาตุดิน แต่วิปัสสนาภาวนานั้นระลึกตรงลักษณะของสภาพที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ไม่ใช่ทางตา การเจริญวิปัสสนาภาวนาที่จะรู้ลักษณะของธาตุดินไม่ใช่ทางตา ต้องกระทบสัมผัสสภาพที่อ่อน และแข็ง เสมอกันหมด ไม่ว่าจะเป็นที่กาย หรือที่อื่นก็ตาม นั่นคือวิปัสสนาภาวนา มีลักษณะของธาตุแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ แต่สมถภาวนาอาศัยสัญญา ความจำในสิ่งที่สมมติว่าธาตุดิน แล้วก็น้อมไปสู่การที่จะสงบเพราะรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสาระ สิ่งที่ปรากฏที่เป็นใหญ่ เป็นประธานของรูปทั้งหลายก็คือธาตุดินเท่านั้น อย่างหนึ่งแน่นอน ซึ่งเป็นธาตุที่ปรากฏทั่วไป แล้วจิตจึงจะสงบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครๆ ก็ไปดูปฐวีกสิณ ไปนั่งจ้อง แล้วจะให้เป็นสมถภาวนาถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยที่ปัญญาไม่เกิดขึ้นที่จะมนสิการให้จิตสงบ
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยปฐวีกสิณในขั้นต้น แต่เมื่อชำนาญแล้ว จิตย่อมผูกพัน วิตก คือนึกถึงธาตุดินที่ทำให้จิตสงบ เพราะไม่เกี่ยวข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อื่น ใจวิตกคือนึกถึงในลักษณะของธาตุดิน
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะทำอย่างไรคะ จะสงบพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หรือยังใคร่ทำสมาธิแล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบ แล้วปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า จิตจะสงบได้อย่างไร เพียงไปนั่งจดจ้องที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไปถือเอาอกุศลจิตเป็นกุศลจิต ไม่สงบ เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วจึงสงบ
เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพียงแต่จดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดให้เป็นสมาธิเกิดขึ้น ผลก็คือว่า ไม่รู้ว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แปลกประหลาด นั่นเป็นความไม่รู้ และความสงสัยก็เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่ลักษณะของความสงบเลย