ปัจจัยของความสงบที่ถูกต้อง
สงบต้องหมายความถึงเป็นกุศลที่ปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะ กำลังติดใจก็เป็นลักษณะของโลภะแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องรู้ถึงจุดแยกตอนนี้ระหว่างความสงบกับโลภะ ถ้ายังไม่รู้ว่า ทั้งหมดที่เคยปฏิบัติมาแล้วว่า แท้ที่จริงเป็นความสบาย เป็นความพอใจ เป็นความชอบ เป็นความต้องการ จึงนั่งแล้วอยากจะเป็นอย่างนั้นอีก จะเป็นความสงบได้อย่างไร ความสงบเกิดได้ด้วยปัญญาแม้ในขณะนี้ นี่จึงจะเป็นความสงบจริงๆ สามารถจะสงบได้โดยปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และรู้ด้วยว่า จิตสงบเพราะอะไร จะต้องมีสิ่งที่เป็นปัจจัยของความสงบที่ถูกต้อง ไม่ใช่อยากจะสงบเลยไปนั่ง เพราะต้องการความสบายอย่างนั้นแล้วถือว่า ความสบายนั่นคือความสงบ นั่นไม่ใช่ความสงบแล้ว ที่จะไปนั่ง ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่ความสงบเลย
หลายท่านจะไม่เชื่อที่บอกว่า กำลังจดจ้องเป็นสมาธินั้นไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องแยกกันแล้วสมาธิ สมถะ วิปัสสนา บางครั้งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า สมาธิเท่านั้น แต่ทรงมุ่งหมายสัมมาสมาธิซึ่งเป็นไปพร้อมกับความสงบ และปัญญา แม้ว่าจะเป็นปัญญาต่างขั้น เวลาที่ทรงแสดงธรรมถึงฌานขั้นต่างๆ ก็จะทรงใช้คำว่า “สมาธิ” แต่ก็อย่าเข้าใจผิดว่า แม้มิจฉาสมาธิก็ทรงมุ่งหมายในที่นั้น เพราะเหตุว่าถึงแม้จะใช้คำกลางว่า “สมาธิ” แต่ถ้าเป็นเรื่องของกุศลฌาน ย่อมหมายความถึงสัมมาสมาธิที่ต้องเกิดพร้อมกับความสงบ อย่าทิ้งคำว่า “ความสงบ” และในบางแห่งก็จะใช้คำชัดทีเดียว เวลาอธิบายลักษณะของสมาธิว่า สมาธิที่เป็นกุศลนั้นมุ่งหมายสมาธิที่เกิดพร้อมกับความมั่นคงของความสงบ ต้องมีความสงบอยู่ด้วยถ้าเป็นกุศล แต่ไม่ใช่ความสบาย และคิดว่า ความสบายนั้นคือความสงบ โดยปัญญาไม่ได้รู้เลยในสิ่งที่ปรากฏว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร