ทวาร กับ วัตถุ


    ผู้ฟัง จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ทางปัญจทวาร ถ้าเป็นทางจักขุวิญญาณจิต ก็จะมีจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต แล้วก็เป็นทวาร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำว่า "ทวาร" เป็นความหมายหนึ่ง เวลาใช้คำ "วัตถุ" เป็นอีกความหมายหนึ่ง และได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร การศึกษาปรมัตถธรรม ก็เป็นการที่เราจะได้ทราบ ถึงความจริงที่ว่าจะเกิดสลับที่ก็ไม่ได้ จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุ คือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เป็นจักขุทวาร แต่เวลาที่ใช้คำว่าจักขุทวาร ไม่ได้หมายความถึงที่เกิด หมายความว่าเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่แต่เฉพาะจักขุวิญญาณเท่านั้นที่รู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็อาศัยจักขุปสาท เป็นทวารที่จะรู้รูปที่กระทบจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ เป็นรูป

    ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑

    วัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ ที่เกิดของจิตต้องเป็นรูปทั้ง ๖ ต้องเป็นรูปเท่านั้น

    ผู้ฟัง เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิตด้วย แต่ถ้าเกิดทางมโนทวาร ...

    ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่าเกิดพร้อม

    ผู้ฟัง เพราะว่าเนื่องจากเป็นที่เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นเราก็คิดเอาเอง แล้วใครบอกที่ไหนว่าเกิดพร้อมกัน สามารถจะรู้ได้อย่างนั้นไหม ว่าขณะนี้จิตเกิดที่รูปไหน

    ผู้ฟัง ไม่สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สามารถจะรู้ได้ ว่าเวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้น ต้องเกิดที่จักขุปสาทรูป เป็นจักขุวัตถุ

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่เกิดขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดขณะเดียวกัน และเกิดพร้อมกันก็ไม่ได้ด้วย เพราะว่ารูปซึ่งจะเป็นที่เกิดของจิต หรือเป็นปัจจัยให้จิตเกิด ต้องเป็นในฐิติขณะ คือรูปนั้นต้องเกิดก่อน ก็ยิ่งเรียนก็จะยิ่งเพิ่มขยายกระจายออกไปมาก แต่พื้นฐานก็คือว่ามีความเข้าใจชัดเจน ไม่สงสัย ไม่คลาดเคลื่อนในคำที่ได้ยินได้ฟังจนมั่นคง ธรรมจะเห็นได้ว่าคิดเองไม่ได้เลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นสาวกคือผู้ที่ฟังแล้วพิจารณาให้เข้าใจตามที่ทรงตรัสรู้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะคิดเอง


    หมายเลข 3900
    21 พ.ย. 2567