วิบากจิตทั้งหมดมีกรรมเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ เราก็พอที่จะชินหูกับคำว่า"ปัจจัย" และพอที่จะ ได้เข้าใจบางปัจจัยได้ ก็ขอเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ซึ่งต้องเกิดเพราะปัจจัย ชื่อปัจจัยต่างๆ ที่ได้ยินในงานสวดศพบ้าง หรืออะไรต่างๆ เราก็พอจะเข้าใจได้ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต จะมีปัจจัยอะไรบ้าง
อ.กุลวิไล สำหรับปฏิสนธิจิต เป็นจิตขณะแรกของการที่จะดำรงภพชาติเป็นบุคคลใหม่ หลังจากจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเหตุ และมีปัจจัย สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็ด้วยกัมมปัจจัย
ท่านอาจารย์ วิบากจิตทั้งหมดต้องมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า กัมมปัจจัย สำหรับปัจจัยคือสภาพธรรม ที่ทำให้สภาพธรรมอื่นอาศัยเกิดขึ้นเป็นไป ก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นผล คือปัจจยุบบัน เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยกับที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด ต้องกล่าวถึงปัจจยุบบัน คือสภาพธรรมที่เกิด หรือดำเนินไปเพราะปัจจัยนั้น ต้องคู่กัน มีปัจจัย แล้วไม่มีปัจจยุบันได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม ถ้ามีปัจจยุบบันก็หมายความว่าต้องมีปัจจัยที่ทำให้ปัจจยุบบันคือผลนั้นเกิด เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงวิบากกับกรรม อะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบัน จิตเป็นอะไร ของอะไร
อ.วิชัย ปัจจัยหมายถึงว่าผล อาศัยเป็นไป ก็คือผลจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยสิ่งนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ สิ่งนั้นชื่อว่าปัจจัย คือกล่าวว่าโดยความเป็นเหตุ ให้ผลเกิด ชื่อว่าปัจจัย แต่ว่า ปัจจยุบบัน คือ ปัจจย กับ อุปปันนะ ก็คือเกิดจากปัจจัย ก็คือผลนั่นเอง คือเป็นผลปัจจัย ก็คือเกิดจากปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็มาจาก ๒ คำ ปัจจย กับ อุปปันนะ ปันนะ แปลว่าเกิด เพราะฉะนั้นก็สภาพนั้นเกิดจากปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไร ก็เป็นปัจจยุบบันของปัจจัยนั้นๆ
ผู้ฟัง อย่างเช่น วิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย เป็นผลที่เกิดจากกรรม วิบากเป็นปัจจยุบบันของกัมมปัจจัย และกรรมก็เป็นปัจจัยของวิบาก แต่วิบากเป็นปัจจยุบบันของกรรม เพราะฉะนั้น ปัจจุบัน กับ ปัจจยุบบัน ไม่เหมือนกัน เพราะมาจากคำว่า ปัจจย กับ อุปปันนะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยนั้น ถ้าไม่ศึกษาธรรมก่อน ก็ไม่เคยได้ยินคำว่าปัจจยุบบันเลย ได้ยินแต่คำว่าปัจจุบัน แต่ไม่เคยได้ยินคำว่าปัจจยุบบัน แต่เมื่อได้ศึกษาธรรม ก็รู้ว่าสองคำนี้ต่างกัน ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็อาจจะเข้าใจว่าคนนั้นพูดเหมือนกัน คือบางคนอาจจะใช้คำว่าปัจจยุบบันเป็นปัจจุบัน หรืออาจจะใช้คำว่าปัจจุบันเป็นปัจจยุบบัน แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าก่อนศึกษาธรรม ไม่เคยได้ยินคำว่าปัจจยุบบัน แต่ได้ยินคำว่าปัจจุบัน อดีต ปัจจุบัน อนาคต เคยได้ยิน แต่จะไม่ได้ยินคำว่า อดีต ปัจจยุบบัน อนาคต เพราะฉะนั้นตอนนี้ศึกษาแล้ว พูดกับใครก็ต้องพูดว่าปัจจยุบบัน เวลาหมายความถึงเป็นผลของปัจจัย แต่ว่าบางคนอาจจะติดนิสัยเก่า เพราะเคยได้ยินคนที่พูดว่าปัจจัยกับปัจจุบัน แต่จะทราบได้เลยว่าที่พูดเช่นนั้นผิด ต้องเป็นปัจจัยกับปัจจยุบบัน
กัมมปัจจัยไม่น่าสงสัยใช่ไหม กรรมที่กระทำสำเร็จแล้ว จะให้ปัจจยุบบันเกิดขึ้น เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นพร้อมด้วยปัจจัยสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล เลือกไม่ได้เลยว่ากรรมไหนจะให้ผลเมื่อไร