จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัย


    ปัจจัยที่ ๖ คือ“สหชาตปัจจัย”

    ท่านผู้ฟังศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยไม่ต้องรีบแต่ว่าพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ และไม่ต้องท่อง แต่เมื่อเข้าใจแล้วเวลาที่ได้ยินชื่อของปัจจัยต่างๆก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ได้แก่สภาพธรรมอะไร

    สำหรับ “สหชาตปัจจัย”

    ธรรมใดย่อมเกิดขึ้นธรรมนั้น ชื่อว่า ชาต (ชาตะ)

    ธรรมที่เกิดพร้อมกัน ธรรมนั้น ชื่อว่า สหชาต (สหชาตะ)

    เพราะฉะนั้นสำหรับสหชาตปัจจัยนี้ไม่ยากเลย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย โดยเกิดพร้อมกันกับสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น คือ ปัจจัยธรรมและปัจจยุปบันนธรรม ต้องเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ

    ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตปัจจัยนี้ โดยชื่อ “สหชาต” หมายความถึง เกิดพร้อมกัน ไม่ได้พูดถึงดับพร้อมกัน ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นสำหรับปัจจัยนี้ หมายความถึง สภาพธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัยโดยเกิดขึ้นพร้อมกันกับปัจจยุปบันนธรรม ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ แต่ให้รู้ว่าเป็นปัจจัยทันทีที่เกิด ในขณะที่เกิดขึ้น ต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันนธรรม คือ ธรรมซึ่งตนเองเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นด้วย

    ถ้าทราบความหมายของปัจจัยนี้ ก็ทราบได้เลยว่า สำหรับปรมัตถธรรม ๔สภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย

    นี่เป็นเรื่องคิดและพิจารณา และก็ต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นสหชาตปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ผัสสะ เวทนาสัญญา เจตนา เหล่านี้เป็นชื่อของเจตสิกแต่ละชนิด แต่ละประเภท

    ผัสสะเป็นเจตสิกซึ่งกระทบอารมณ์ ถ้าผัสสะไม่กระทบจิตจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้

    เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจเสียใจ หรือเฉย ๆ

    ถ้าผัสสะไม่กระทบ เวทนาจะเกิดรู้สึกในอารมณ์นั้นไม่ได้ แต่ทั้งผัสสะ ทั้งเวทนา หรือสัญญาเจตสิกหรือเจตนาเจตสิก หรือเจตสิกอื่น ๆซึ่งเกิดกับจิตนั้น ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ที่กล่าวว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน ต้องหมายถึงในทันทีที่จิตเกิด คือ ในอุปาทขณะของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะนี่โดยสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นสหชาตปัจจัยของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตซึ่งตนเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเจตสิกไม่เกิด จิตก็เกิดไม่ได้ หรือว่าถ้าจิตไม่เกิดเจตสิกก็เกิดไม่ได้ทั้งจิตและเจตสิกต้องเกิดด้วยกัน โดยสภาพของสหชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน

    ก็ไม่ยากใช่ไหมคะ ก็เป็นเรื่องของจิตเจตสิกตามที่เคยได้ทราบแล้ว

    นอกจากจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัย ไม่ใช่แต่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นสหชาตปัจจัย เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็เป็น“สหชาตปัจจัย” ของจิตด้วย


    หมายเลข 3918
    28 ส.ค. 2558