วัตถุที่เป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕
ประการที่ ๑ คือจิต และเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกัน และกัน
ประการที่ ๒ คือมหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกัน และกัน
ประการที่ ๓ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ
ถ้าได้ยินคำว่า “วัตถุ” หมายความว่า รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปจะเกิดโดยที่ไม่มีจิตเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะใดที่จิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องทราบว่า จิตประเภทนั้นเกิดที่รูปอะไร เพราะเหตุว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ จิตเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดที่จักขุปสาท จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุของจักขุวิญญาณ
ขณะที่ได้ยิน โสตปสาทเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้เกิดที่โสตปสาท และดับที่โสตปสาท เพราะฉะนั้นโสตปสาทเป็นโสตวัตถุของโสตวิญญาณ ๒ ดวง
ขณะที่ได้กลิ่น ฆานวิญญาณจิตเกิดที่ฆานปสาท เพราะฉะนั้นฆานปสาทใดซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญานในขณะนั้น ฆานปสาทรูปนั้นเป็นฆานวัตถุของฆานวิญญาณในขณะที่ได้กลิ่น แล้วก็ดับ ไม่เที่ยงเลย ชั่วขณะเล็กน้อยนิดเดียว ซึ่งจิตเกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ และเกิดที่ต่างๆ
ในขณะที่ลิ้มรส ที่รสปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นลิ้มรสที่ชิวหาปสาท ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น ลิ้มรสที่ชิวหาปสาทรูป ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ เพราะเหตุว่าเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ แล้วก็ดับ
ขณะใดที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะนั้นกายวิญญาณเกิดที่กายปสาทรูป เพราะฉะนั้นกายปสาทรูปเป็นกายวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณในขณะนั้น แล้วก็ดับ
แต่ในวันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตอื่นทั้งหมดนอกจากนั้นเกิดที่หทยรูป ซึ่งเป็นหทยวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นอกจากจิต ๑๐ ดวง
เพราะฉะนั้นในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่เกิด จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมเป็นปัจจัยทำให้หทยวัตถุเกิด เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิตในขณะนั้น
การเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ซึ่งปฏิสนธิจิตก็ได้ดับไปนานแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นจิตดวงแรก ขณะแรกซึ่งเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง ถ้าเกิดในสุคติภูมิก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในทุคตภูมิก็เป็นผลของอกุศลกรรม
และในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิต และเจตสิกเกิดเท่านั้น ยังมีกัมมชรูป ซึ่งถ้าเป็นในภูมิของมนุษย์ซึ่งเกิดในครรภ์ ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นจะมีกัมมชกลาปรวม ๓ กลาป
“กลาป” หรือ “กลาปะ” ในภาษาบาลี หมายความถึงกลุ่มของรูป เพราะเหตุว่าที่รูปจะเกิดขึ้นเพียงลำพังรูปเดียวไม่มี อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูปรวมกันเกิดพร้อมกัน ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ และรูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชะ อีก ๔ รูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นมหาภูตรูป แต่เป็นรูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป
รูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป ชื่อว่า “อุปาทายรูป”
เพราะฉะนั้นรูป ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ และสี กลิ่น รส โอชะ อีก ๔ เป็น ๘ รูป
และสำหรับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็จะต้องมี “ชีวิตรูป” รวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้รูปนั้น มีลักษณะเป็นรูปที่ทรงชีวิต เป็นลักษณะของรูปที่มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมอีก ๑ รูป เป็น ๙ รูป
และสำหรับ ๓ กลาป จะประกอบด้วยรูปกลุ่มละ ๑๐ กลุ่มละ ๑๐ คือ นอกจากจะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป มีสี กลิ่น รส โอชะ เป็นอุปาทยรูป มีชีวิตรูปอีก ๑ รูป เป็น ๙ รูป และมีกาย คือ รูปซึ่งทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น ที่ปรากฏเมื่อเจริญเติบโตแล้ว แต่ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น รูปนั้นเล็กที่สุดทั้ง ๓ กลาป หรือทั้ง ๓ กลุ่มของรูป เป็นรูปที่เล็กมาก แต่ให้ทราบว่า แม้จะเล็กเพียงไรก็ตาม ในกลุ่มหนึ่งๆ หรือกลาปหนึ่งๆ จะมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป
ส่วนกลุ่มหนึ่งเป็นกายทสกะ คือได้แก่ กลุ่มของกายกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวทสกะ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ ชีวิตรูป ๑ และอิตถีภาวะรูป ๑ (ถ้าเป็นเพศหญิง) หรือปุริสภาวะอีก ๑ (ถ้าเป็นเพศชาย) ในกลุ่มนั้น ก็เป็น ๑๐ รูป เรียกว่า “ภาวทสกะ”
และอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ชื่อ “หทยทสกะ” ก็ต้องประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อุปาทายรูป ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชะ ชีวิตรูป ๑ เป็น ๙ และหทยวัตถุ ๑ คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอีก ๑ รูป ในกลุ่มนั้นเป็นหทยทสกะ คือ กลุ่มของหทัย ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
เพราะฉะนั้นกรรมทำให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ แต่ว่าถ้าจิต คือ ปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูป ๓ กลุ่มนี้เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นสำหรับปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้เป็นไปแล้วพร้อมกันทันทีในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น
โดยนัยเดียวกัน หทยวัตถุในขณะปฏิสนธิซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต จึงเป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต แต่กัมมชกลาปอีก ๒ กลาปไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะเหตุว่า จิตไม่ได้เกิดที่กายทสกะ หรือภาวทสกะ แต่เกิดที่กลุ่มของรูปที่เป็นหทยทสกะ
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของสหชาตปัจจัยหมวดนี้?
คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิหทยวัตถุในอุปาทขณะ และปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ
ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตก็จะเห็นได้ว่า กล่าวถึงเฉพาะหทยวัตถุปฏิสนธิขณะ หมายความถึง ปฏิสนธิหทยวัตถุรูป รูปเดียวที่เป็นสหชาตปัจจัยของจิต คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ารูปอื่น ขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิขณะ ที่รูปจะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตก็ดี หรือจะเป็นทวารให้จิตรู้อารมณ์ก็ดี หรือว่าจะเป็นอารมณ์ให้จิตรู้ก็ดี รูปทั้งหมดที่จะเป็นปัจจัยได้ในขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิกาลแล้วต้องเป็นรูปในขณะฐีติขณะของรูป
รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นในอุปาทขณะของจิต ถ้ารูปนั้นเกิดในขณะนั้น รูปนั้นไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้แก่จิตได้เลย เป็นทวารไม่ได้ เป็นวัตถุไม่ได้ เป็นอารมณ์ไม่ได้ นอกจากเฉพาะในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตได้ในอุปาทขณะของรูป
นอกจากนั้นแล้วรูปจะไม่มีโอกาสเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูปได้เลย รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยโดยเป็นทวารก็ดี โดยเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดก็ดี หรือโดยเป็นอารมณ์ก็ดี จะต้องเป็นปัจจัยในฐีติขณะเท่านั้น
ซึ่งจะเห็นได้ในวีถีจิตว่า ขณะที่รูปเกิดกระทบภวังค์ ขณะนั้นจิตไม่สามารถที่จะรู้หรือมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ได้ทันที ต้องเป็นฐีติขณะของรูปเสมอ เว้นขณะเดียว คือ ในปฏิสนธิขณะเท่านั้น ซึ่งรูปสามารถจะเป็นปัจจัยได้ในอุปาทขณะ