ปัญญาเป็นภาวะที่ฉลาดเพราะรู้ละเอียด
สำหรับปัญญานั้น คือ กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ถ้าไม่วิจัย คือ ไม่พิจารณาธรรม จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นสภาพของนาม หรือเป็นสภาพของรูป ซึ่งปัญญาจะต้องวิจัย คือ พิจารณารู้ความต่างกันของนาม และรูป เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะ มีความหมาย ๒ อย่าง
สัมปชัญญะบรรพ คือ การรู้สึกตัว ในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียดคู้ แล เหลียว กิน ดื่ม เคี้ยว
สัมปชัญญะที่เป็นปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายลักษณะของนาม และรูป ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด คือ ทางตาก็มีนามกับรูป ปัญญารู้ เป็นภาวะที่รู้ละเอียด คือ รู้ความต่างกันของนาม และรูปทางตา รู้ความต่างกันของนาม และรูปทางหู รู้ความต่างกันของนาม และรูปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความรู้แจ่มแจ้ง นั่นเป็นลักษณะของปัญญา
ความค้นคิด จนกว่าจะรู้ชัด เวลานี้ได้ยิน สติระลึกได้ ตามระลึกในขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่ค้นคิดจะรู้ชัดไหมว่า ลักษณะนี้นาม หรือว่าลักษณะนั้นรูป ไม่มีทางที่จะรู้ชัดได้เลย แต่ที่จะรู้ชัดได้นั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเป็นลักษณะที่ค้นคิด เป็นความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน หนักแน่นไม่เปลี่ยน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เพราะเหตุว่ารู้ชัด ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง เป็นความเห็นแจ้ง
เมื่อรู้ลักษณะของนามได้ยิน รู้ลักษณะของเสียง เห็นแจ้งแล้วก็ไม่สงสัยว่า นี่เป็นนาม หรือว่านั่นเป็นรูป เพราะว่ามีความรู้แจ้งเป็นความรู้ชัด
ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ