ความเข้าใจของคำว่า สะสม


    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ เรื่องเกี่ยวกับคำว่าสะสม เพราะว่าสะสม พอนึก จะเป็นเหมือนการหยอดเก็บใส่กระปุก

    ท่านอาจารย์ แต่ว่านามธรรมไม่ใช่กระปุกแต่สะสมได้

    ผู้ฟัง ที่นี่จิตที่สะสมนิสัย หรือกรรมเก่าที่ทำให้เราเป็นบุคคลนี้ คืออยากจะเข้าใจคำว่าสะสม

    ท่านอาจารย์ ถ้าโกรธนิดๆ บ่อยๆ มากๆ เพิ่มขึ้น ถ้าใจดี เมตตานิดๆ หน่อยๆ มากๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง

    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะจิต จิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะแล้วดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่าขณะไหนสะสม ขณะที่เป็นกุศลจิต หรือขณะที่เป็นอกุศลจิต ก็สะสมเป็นอุปนิสัย
    ผู้ฟัง แล้วถ้าการเปลี่ยนภพชาติ ที่แบบว่าไปเกิดอีกชาติหนึ่ง แล้วของเก่าที่สะสมมา แล้วความจำก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จิตขณะนี้ เดี๋ยวนี้มาจากไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่แล้วมาจากไหน

    ผู้ฟัง ก็ขณะก่อนที่แล้วอีก

    ท่านอาจารย์ และก่อนนั้นมาจากไหน แสนโกฏกัป ก็คือสะสมสืบต่อจนถึงขณะนี้

    ผู้ฟัง ก็คือถ้าเกิดเราเปลี่ยนภพชาติไป จิตก็จะเดินต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดดับสืบต่อ ใครจะไปเอาสิ่งที่สะสมมาออกไปไม่ได้เลย ที่จิตเกิดดับสะสมมา พอตายจะให้สิ่งที่สะสมอยู่หายไปไหน ใครจะไปหยิบออกไปก็ไม่ได้ เป็นที่เก็บกุศลกรรม และอกุศลกรรม ที่ปลอดภัยที่สุด

    ผู้ฟัง แล้วเรานี้เรียนรู้จากกรรม หมายถึงว่าเรียนรู้จากกรรมตัวเอง จากสิ่งที่ทำมาแล้ว เหมือนรู้ว่าอย่างนี้ผิด ไม่ดี แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในการคิด หรือวิธีที่จะทำให้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราจะเรียนปัจจัย ว่าแต่ละขณะจิตมีปัจจัยอะไรบ้าง ปฏิสนธิจิต มีปัจจัยอะไร กุศลจิต อกุศลจิตเป็นปัจจัยอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เมื่อถึงกาลที่จิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจนั้น จะเป็นปัจจัยอย่างไร เพราะไม่มีเรา แต่มีจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ขอบคุณค่ะ


    หมายเลข 3937
    17 ส.ค. 2567