จิต เจตสิก กับ สัมปยุตตปัจจัย
อ.ธีรพันธ์ ปัจจัยต่อไป ก็คือที่ขาดไม่ได้คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะว่าจิตกับเจตสิกแยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน แล้วก็มีอารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน อาศัยที่เกิดเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ขณะนั้นก็คือปัจจัยที่เป็นสัมปยุตตปัจจัย นั่นเอง คือจิต ปฏิสนธิจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยให้แก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นสัมปยุตตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตนั่นเอง แยกขาดจากกันไม่ได้ คือสัมปยุต เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกัน จึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นเเต่เพียงชื่อใหม่ ความจริงก็คือชื่อเก่า แต่ว่าทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ สัมปยุตตปัจจัย เพราะว่าเราทราบแล้วว่า จิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และก็จะมีแต่เจตสิกเกิด โดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่สภาพธรรมที่จะเกิดร่วมกันได้ ที่เป็นนามธรรมทั้งจิต และเจตสิก ก็คือเป็นนามธรรมล้วนๆ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย เป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกันอย่างหนึ่งเป็นจิต และอีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิก และต่างก็อาศัยกัน และกันเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่จะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย จิตก็ต้องมีปัจจัย เจตสิกก็ต้องมีปัจจัย แล้วแต่ว่าขณะนั้น เราจะกล่าวถึงปัจจัยอะไร แล้วก็เป็นจิต เจตสิกประเภทไหน แต่ในเมื่อทั้งจิต และเจตสิก ขาดกันไม่ได้เลย ที่จะขาดกันไม่ได้เลย ต้องเป็นสภาพธรรมที่สามารถเข้ากันได้สนิท คือเป็นนามธรรมกับนามธรรม แล้วก็เป็นเมื่อเป็นนามธรรมที่เกิดต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์เมื่อเกิดพร้อมกัน และเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะแยกอารมณ์กันไม่ได้เลย จิตมีอารมณ์อะไร เจตสิกก็มีอารมณ์นั้น รู้อารมณ์นั้นแหละ แล้วก็ถ้าจิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตนั้นเกิดที่รูปไหน เจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ก็เกิดที่รูปนั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็เพียงเพิ่มชื่อ จากที่เราเคยเข้าใจแล้ว เป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นรูปธรรม ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย เฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิกเท่านั้น โดยที่ว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่รูปเดียวกัน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสัมปยุตตปัจจัย
๓ ปัจจัยแล้ว ไม่ยากเลย ใช่ไหม กัมมปัจจัย อารัมณปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย เข้าใจแล้วทั้งหมด เพียงแต่ว่าแสดงโดยความเป็นปัจจัยเท่านั้นเอง