ปัตตกัมมสูตร เหตุที่จะได้ธรรมที่น่าปรารถนา
ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะทราบได้เลยว่า แม้ท่านปรารถนาที่จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่จะไปได้หรือไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับกรรม
พระผู้มีพระภาคมิได้เพียงทรงแสดงธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ปรารถนาของทุกท่านเท่านั้น แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเหตุที่จะให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเหตุที่จะให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า
ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธาสัมปทา ๑ ศีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑
คือ การถึงพร้อมด้วยศรัทธา การถึงพร้อมด้วยศีล การถึงพร้อมด้วยจาคะ การสละความตระหนี่ และการถึงพร้อมด้วยปัญญา
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร คฤหบดี ก็ศรัทธาสัมปทา เป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ( และพระคุณธรรมข้ออื่นๆ) เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกร คฤหบดี นี้เรียกว่า ศรัทธาสัมปทา
ท่านผู้ฟังมีความเคลือบแคลงในพระธรรมที่ได้ฟังบ้างไหม ถ้าเคลือบแคลงจะชื่อว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นผู้ที่มีศรัทธาสัมปทาได้ไหม ก็ไม่ได้ และการที่ท่านผู้ฟังจะมีความมั่นคงในศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ และประพฤติปฏิบัติตาม พิจารณาพระธรรมว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้สมบรูณ์ด้วยความจริงทั้งเหตุ และผลอย่างไร ก็จะทำให้ท่านเพิ่มพูนศรัทธา ความเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ศีลสัมปทา เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ( แล้วก็ศีลข้อต่อไปจนถึง) เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ศีลสัมปทา
เรื่องของศีลเป็นเรื่องที่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ท่านจะเห็นว่า สภาพธรรมใดเป็นอกุศล สภาพธรรมใดเป็นกุศล เมื่อได้เห็นจริงว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ท่านก็จะเว้นการทำทุจริตกรรม เพราะถึงแม้ว่าอกุศลจิต ความพอใจ ความไม่พอใจ จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ก็จะไม่ทำให้รุนแรงถึงกับกระทำทุจริตกรรมได้ นอกจากจะเพื่อประโยชน์ของท่านเอง ก็เป็นการงดเว้นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนด้วย ถ้าท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นศีลสัมปทา
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็จาคสัมปทา เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา
เรื่องของจาคสัมปทา เป็นความสามารถที่จะสละการติดในวัตถุ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสที่ยึดมั่นในวัตถุ ในสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีจาคะ ไม่มีการสละ ก็ยังเป็นผู้ที่ติดยึดอย่างเหนียวแน่นทีเดียวในวัตถุ ในสิ่งต่างๆ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ปัญญาสัมปทา เป็นไฉน บุคคลมีใจอันความโลภ ไม่สม่ำเสมอ คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศ และความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ อันถีนมิทธะครอบงำ อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศ และความสุข
เคยรู้สึกบ้างไหมว่า จิตของท่านไม่สม่ำเสมอด้วยอภิชฌา ต้องการผลของการปฏิบัติจนกระทั่งลืมที่จะพิจารณาว่า เหตุอย่างไรจึงจะทำให้เกิดผลอย่างไร หรือสิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นผลนั้น เป็นผลที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าท่านมีความโลภ มีความต้องการเสียเหลือเกิน ยึดถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นผลจริงๆ ซึ่งโดยมากในการเจริญวิปัสสนา ท่านมักจะถามว่าได้อะไร ได้ญาณขั้นไหน ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่พิจารณาธรรมอย่างละเอียดรอบคอบให้เหตุตรงกับผล อภิชฌา ความโลภจะทำให้ท่านทำกิจที่ไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้ท่านเสื่อมจากยศ และความสุข เพราะเหตุว่าบางทีด้วยอำนาจของอภิชฌา ท่านก็อาจจะถึงกับกล่าวว่าธรรมที่ถูกนั้นเป็นธรรมที่ผิด หรือว่า ธรรมที่ผิดนั้นเป็นธรรมที่ถูก ก็แล้วแต่จิตใจของท่าน ซึ่งไม่มีบุคคลอื่นจะรู้ดียิ่งกว่าตัวของท่านเอง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นแล รู้ว่า อภิชฌา วิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌา วิสมโลภะ อันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้
รู้ว่า พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละวิจิกิจฉา อันเป็นอุปกิเลสของจิต
ดูกร คฤหบดี เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า อภิชฌา วิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิต ดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้
อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้แล อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่อย่าลืมว่า จะละอะไรก่อน วิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องละเป็นลำดับขั้น ขั้นแรกไม่ใช่ละโลภะ โทสะ นั่นเป็นขั้นของ พระอนาคามี ขั้นของพระอรหันต์ แต่ว่าขั้นของพระโสดาบันบุคคลนั้นละวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ธรรมที่น่าปรารถนาทั้ง ๔ ประการนี้ จะสำเร็จสมความปรารถนาได้ก็ด้วยธรรมที่เป็นเหตุ ๔ ประการ ถึงพร้อมข้อไหนแล้วบ้าง ศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ที่จะเป็นเหตุให้ได้ธรรมที่น่าปรารถนา ๔ ประการนั้น
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญอบรมให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมทั้งศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา ไม่ควรประมาท ต้องการผลอย่างไร ก็ต้องเจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แล
ที่มา ...