อาการ ๓๑ ในพระสูตร
ในพระไตรปิฎกมีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นใน ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย ก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมากใช้คำว่า อาการ ๓๒ แต่ถ้านับดูอาการที่ได้กล่าวแล้ว และแม้ในพระสูตรตอนอื่นๆ นับแล้วจะมีอาการ ๓๑ เท่านั้น แต่ว่าส่วนอาการ ๓๒ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ภาค ๑ ซึ่งมีข้อความแสดงอาการ ๓๒ ถ้าใช้ภาษาบาลีก็จะทำให้ทราบว่า คำไหนหมายความถึงอะไร
ในกายนี้มี เกสา ผม โลมา ขน นะขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง
นั่นก็เป็นหมวด ๕
มังสัง เนื้อ นะหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต
หมวดต่อไป
หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด
หมวดต่อไปมี ๔
อันตัง ไส้ใหญ่ อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า
นี่ก็เป็นอาการของธาตุดิน ๑๙
หมวดต่อไปเป็นอาการของธาตุน้ำ คือ
ปิตตัง ดี เสมหัง เสลด ปุพโพ หนอง โลหิตัง เลือด เสโท เหงื่อ เมโท มันข้น
หมวดต่อไปเป็น
อัสสุ น้ำตา วะสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ละสิกา ไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร
และประการสุดท้าย คือ
มัตถะเก มัตถะลุงคัง มันสมอง หรือเยื่อในสมอง
แต่ในพระไตรปิฎกนั้นใช้พยัญชนะ ๒ อย่าง มันสมอง ๑ กับเยื่อในสมอง ๑ ความจริงก็มีความหมายเหมือนกัน คือ จะใช้คำว่ามันสมอง หรือเยื่อในสมองก็เหมือนกัน
สำหรับมันสมอง หรือเยื่อในสมองนั้นก็รวมอยู่ในเยื่อในกระดูก แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะนับดูในพระไตรปิฎก จะพบว่าส่วนมากในพระสูตรเป็น ๓๑
อีกประการหนึ่ง พยัญชนะเดิมที่แปลว่าม้าม ความจริงแปลว่าไต คือ วกฺก โบราณแปลว่าม้าม แต่โดยความหมายแล้ว วกฺก ไม่ใช่ม้าม แต่เป็นไต
เพราะฉะนั้น ข้อความที่อ่านตามพระไตรปิฎกที่ว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม นั่นแปลตามโบราณ แต่ที่ถูกควรจะเป็นไต และส่วนที่เป็นไตก็ควรจะเป็นม้าม
เป็นข้อสังเกตที่ว่า ควรที่จะได้ทราบตามพยัญชนะบาลีด้วย