เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์
ถ้ากล่าวโดยขันธ์ เจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑
รูปขันธ์ ได้แก่ ทุกรูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ได้แก่ ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ เป็นโสมนัส เสียใจ เป็นโทมนัส หรืออทุกขมสุข หรืออุเบกขา เฉยๆ ก็เป็นเวทนาขันธ์
เพราะฉะนั้นเจตสิกที่นอกจากเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิกแล้ว ก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น
เพราะฉะนั้นในปฏิจจสมุปปาทจึงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งหมายความถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิต อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอรูปกุศล คือ อรูปาวจรกุศล ๔ ดวง เพราะเหตุว่าสำหรับปุญญาภิสังขารนั้นรวมกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศลทั้ง ๒ เพราะเหตุว่ายังเป็นกุศลที่ยังเป็นไปในรูป ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศลหรือรูปาวจรกุศล ก็เป็นปุญญาภิสังขาร
เมื่อจัดโดยขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงจำแนกสังขารขันธ์ตรัสว่า
ชื่อว่า สังขาร เพราะอรรถว่า ปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ ทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า จักขุสัมผัสสชาเจตนา ดังนี้เป็นต้นในสุตตันตภาชินีย์ ในวิภังคปกรณ์ เพราะเป็นประธานในการปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะสังเกตสภาพลักษณะของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรม เป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยได้ว่า เจตนานั้นมีการมุ่งหวัง คือ เป็นสภาพลักษณะที่จงใจ หรือตั้งใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้า หรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่เป็นต้น ย่อมยังกิจของตน และกิจของคนอื่นให้สำเร็จ คือ เป็นสภาพธรรมที่ถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ