เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย
ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาเปรียบเทียบได้ ลักษณะของเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก เป็นเหตุให้เกิดพอใจ ยินดี ต้องการ แต่โลภเจตสิกไม่ใช่เจตนาเจตสิก แต่เมื่อมีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้น ในขณะนั้นมีสภาพที่ขวนขวาย จงใจ หรือตั้งใจรวมอยู่ด้วย
แต่ว่าถ้ากล่าวถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย ก็จะเห็นได้ว่า เพราะเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท ทุกชาติ ทุกภูมิ
เพราะฉะนั้นสำหรับกัมมปัจจัย ก็จำแนกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ๑ เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ๑
สำหรับ “สหชาตกัมมปัจจัย” ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง โดยเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย และจิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะเดียวกันเป็นปัจจยุปบัน
หมายความว่า ในจิตดวงหนึ่งที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย จิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมดับเจตนานั้นก็เป็นปัจจยุปบัน คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะกัมมปัจจัยนั้น
นอกจากนั้นรูปก็เป็นปัจจยุปบันด้วย เพราะเหตุว่าขณะใดที่จิต และเจตสิกเกิดย่อมมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นแล้วการกระทำกุศลกรรม และอกุศลกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ที่มีการกระทำที่เป็นกุศลกรรมบ้าง หรือว่าอกุศลกรรมบ้าง ก็เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดเพราะจิตในขณะนั้นกระทำกายกรรม หรือวจีกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล
สำหรับสหชาตกัมมปัจจัย มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ
ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม คือ เกิดพร้อมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยาก็ตาม
เพราะฉะนั้นสหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิต และเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นเป็นกัมมปัจจัยด้วย