สิ่งที่มีไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อได้ไหม
ผู้ฟัง ในพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อคนฟังจบแล้วย้อนถามว่า ที่ยืนอยู่เป็นอะไร
ท่านอาจารย์ ที่ยืนอยู่มีไหม มี เป็นอะไร
ผู้ฟัง ก็เป็นคน
ท่านอาจารย์ ตรงไหนเป็นคน
ผู้ฟัง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รวมแล้วเป็นคน
ท่านอาจารย์ รวมแล้วจึงเป็นคน แต่ถ้าไม่รวมแล้วเป็นอะไร
คุณศุกล ไม่ทราบว่าจะแยกตรงไหนครับ
ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า มีแน่ๆ แล้วเราเคยว่าเป็นคนด้วย ลองกระทบ ลองจับที่ว่าเป็นคนซิคะ จับเรื่อยมาตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มีอะไร
คุณศุกล จับแขน
ท่านอาจารย์ ที่นั่นหรือที่ว่าแขน จับจริงๆ คืออะไร
ผู้ฟัง เรียกว่าเนื้อ
ท่านอาจารย์ เรียกว่าเนื้อใช่ไหมคะ จริงๆ ไปกว่านั้นอีกกระทบอะไร ถ้าไม่เรียกว่าเนื้อ ลักษณะอะไรสำหรับคนที่ยังไม่รู้อะไรเลย ยังไม่ได้ศึกษา
ผู้ฟัง ไม่แข็ง แต่อ่อนนุ่ม
ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ใช่ไหมคะ ลักษณะที่แข็งหรืออ่อนนุ่ม ไม่เรียกอะไรเลยได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่เรียกก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ไม่เรียกเลย มีจริงๆ ไม่เรียกได้ไหมคะ สิ่งที่มี ไม่จำเป็นต้องเรียก บางทีรถยนต์คันหนึ่ง ส่วนปลีกย่อย อะไหล่แต่ละชิ้น เราก็รู้ว่ามี แต่เราเรียกไม่ถูก เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม ได้ อันนี้เป็นประการแรก สิ่งที่มีต้องมี แม้ไม่เรียกชื่อเลย นี่ประการหนึ่ง หรือว่าสิ่งที่มี เคยเรียกชื่อนี้ เปลี่ยนเป็นชื่ออื่นได้ไหม ได้ อย่างแขน คุณศุกลเรียกแขนในภาษาไทย ภาษาอื่นไม่เรียกแขน เรียกอย่างอื่นได้ไหม ได้ แต่สิ่งที่คุณศุกลเคยยึดถือว่าเป็นแขน เพียงแข็ง แข็งมี กระทบสัมผัสแข็ง แข็งมี มีก็ต้องบอกว่ามี ลองกระทบสัมผัส แข็งมีไหมคะ สิ่งที่มีนั่นคือแข็ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี มีจริงๆ จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ สิ่งที่มี จะเรียกว่าอะไรก็ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเรียกอย่างนี้ก็ได้ เรียกอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ เราจะต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องว่า ลักษณะที่มีจริงๆ นั้นไม่ใช่ตัวตน แข็งก็คือแข็ง ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง จะตอบเขาว่าอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ก็มีแข็งไงคะ แล้วสิ่งที่มีเป็นอะไร ก็ตอบว่า มีแข็ง มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีทุกอย่าง แต่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ตัวตน ความหมายว่า ไม่ใช่ตัวตน ที่นี่คือไม่ยั่งยืน และไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่สิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นมี แล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่สงสัยว่า คนฟังก็คงไม่เข้าใจ เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลาที่จะต้องเข้าใจพิจารณาบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความจริง
เพราะฉะนั้น มีอีกคำหนึ่งนอกจากคำว่า ธรรม แล้ว มีคำว่า ปรมัตถธรรม และอภิธรรม
เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ สิ่งนั้นก็มี หรือแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่ออะไรก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพธรรมนั้น อย่างภาษาบาลีใช้คำว่า โลภะ ภาษาไทยใช้คำว่า ความติดข้อง ความอยากได้ ความต้องการ ภาษาอังกฤษก็ใช้คำอื่น แต่เปลี่ยนลักษณะของโลภะไม่ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพนั้นไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อก็ได้ จะชื่ออะไรก็ได้ จะเปลี่ยนชื่อก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้
เพราะฉะนั้น ที่ว่ามี คือมีปรมัตถธรรม มีธรรมจริงๆ จะเรียกก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ จะบอกว่าไม่เป็นตัวตน ไม่บอกว่าเป็นคน ไม่เป็นอะไร แต่ลักษณะของรูปก็เป็นรูป ลักษณะของนามก็เป็นนาม