จิ ต สั่ ง ไ ม่ ไ ด้
จิตสั่งไม่ได้ ใช่ไหมคะ ทีนี้ ถ้ามีท่านผู้ใดที่เข้าใจว่าจิตสั่ง เพราะเหตุว่าดูเหมือนว่า พอบอกว่าจิตสั่ง ใคร ๆ ก็เข้าใจว่าถูก จิตสั่งมิฉะนั้นแล้วรูปจะเคลื่อนไหวประกอบกิจการงานต่าง ๆไม่ได้ ทำให้ดูเหมือนเข้าใจว่าจิตสั่ง แต่ถ้าจะพิจารณาจริง ๆ ก็จะต้องพิจารณาแม้แต่ในความหมายของคำว่า “สั่ง” ว่าที่ว่าสั่งคืออะไร คืออย่างไรที่ว่าสั่งเชิญค่ะ
โกสล ที่ว่าจิตสั่ง ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยหรอกครับ ไม่เห็นด้วย เพราะไปขัดกับหลักธรรมที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าเท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมา ในการบรรยายธรรมในสถานที่ต่าง ๆ ทางวิทยุก็ดี พอจะจับใจความได้ว่า ท่านผู้บรรยายธรรมเหล่านั้นท่านใช้คำว่าจิตสั่ง เป็นต้นว่า ผมยืนอยู่อย่างนี้ เพราะจิตสั่งให้ยืน แต่ก็ขัดกับหลักธรรมอันนี้แล้วท่านก็ถามว่า ที่โยมยืนอยู่นี้ ยืนได้อย่างไร เราเถียงท่าน ท่านก็ว่าโยมไปคิดดูใหม่ก็แล้วกัน
ท่านอาจารย์ แต่ต้องพิจารณา แม้คำว่าสั่ง ๆคืออะไร ?
โกสล อย่างเราจะเหยียดแขน เพราะจิตสั่งจึงเหยียดออก
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวค่ะ สั่งคืออะไร ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ถ้าพิจารณาจริง ๆ ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่แม้คำว่า “สั่ง”คืออะไร คืออย่างไร และคือเมื่อไรที่ว่าสั่ง
โกสล เคยเรียนถามท่านก็ว่าไม่อธิบายในข้อนี้ แต่ท่านว่า ที่โยมนั่ง ไม่ใช่จิตสั่งหรอกหรือ ผมก็ว่าไม่ใช่
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้
โกสล ท่านก็ไม่อธิบาย พูดไปพูดมา ก็ตกลงกันไม่ได้ ท่านก็ว่า โยมเอาไปคิดดูใหม่ก่อน เดี๋ยวนี้ในวิทยุก็ยังพูดกันอยู่ และท่านก็มักจะพูดว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลาย มีจิตเป็นประธาน ท่านอ้างอย่างนี้ แต่ผมเคยไปอ่านหนังสือ พบข้อความว่า ถ้าจิตสั่งได้ ร่างกายผมก็คงไม่เปื่อย ไม่หงอก ไม่แก่ ความจริงสั่งไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าโดยมากพอใช้คำว่า “สั่ง” ท่านจะเข้าใจความหมายว่าอะไร ที่ว่าสั่งนี้ ?
โกสล ก็แปลว่าบังคับบัญชา ให้ทำไปตามที่จิตต้องการ เข้าใจว่าอย่างนั้นนะครับ
ท่านอาจารย์ ต้องพูดหรือเปล่าที่ว่าสั่ง ไม่ต้อง หรือต้อง จิตนึกหรือเปล่า ?
โกสล นึกครับ
ท่านอาจารย์ รู้หรือเปล่า นึก คือรู้คำหรือเปล่าคะ
โกสล รู้ครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นจิตรู้คำ ก็ไม่ได้สั่งอะไรเพราะจิตเป็นสภาพที่รู้คำ แล้วก็ดับ จิตมีลักษณะเดียว คือ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์ลักษณะของจิต ที่จะว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนต้องรู้ในอาการรู้ ซึ่งเป็นลักษณะของจิต มิฉะนั้นไม่มีทางอื่น ที่จะเข้าใจในสภาพรู้ได้
โกสล เคยโต้เถียงกับผู้บรรยายเหมือนกันว่า โดยสภาพของจิตจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่จะไปสั่งอะไรได้ แต่ท่านก็ไม่ยอม ว่าสั่งนะ ที่โยมนั่งอยู่อย่างนี้เพราะจิตสั่งฆราวาสก็เหมือนกัน ฆราวาสที่ท่านบรรยายธรรมก็ว่าจิตสั่ง
ท่านอาจารย์ ในจิต ๘๙ ดวง และในวิถีจิตทุกขณะ ตรวจสอบได้ว่าจิตแต่ละขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ แม้แต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติในชาติก่อนเพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตกำลังมีอารมณ์นั้นเกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับ ไม่ได้สั่งอะไรใช่ไหม เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ แม้แต่กัมมชรูปซึ่งเกิดเพราะปฏิสนธิจิต เป็นสหชาตปัจจัย ในขณะนั้นกัมมชรูปเกิดพร้อมอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตคือ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดกัมมชรูปก็เกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ขณะนั้นก็ไม่ได้สั่งใช่ไหมคะ ภวังคจิตก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต จะสั่งได้ไหมคะ เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็สั่งไม่ได้ จนกระทั่งวิถีจิตแต่ละดวงก็มีอารมณ์และมีกิจการงานเฉพาะของจิตนั้น ๆ ซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์แต่ละขณะ
โกสล ผมเองผมเข้าใจและเห็นด้วย แต่ยังมีผู้ฟังอื่นที่เข้าใจไขว้เขวอีกมาก แม้แต่ในการสนทนาธรรมเขาก็ยังเถียงเรื่องจิตสั่งนี้ ปรมัตถธรรมก็มี ๔คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานนั้น เราไม่ต้องพูดถึงหรอก ทีนี้เรื่องจิต เจตสิก รูป เป็นอีก ๓ ปรมัตถ์ ถ้าจิตเป็นผู้สั่ง อะไรเป็นผู้รับคำสั่ง เจตสิกหรือ เจตสิกก็ต้องเกิดพร้อมกับจิตแล้วจะไปรับคำสั่งจากจิตอีกได้อย่างไร และรูปก็เป็นอนารมฺณํ คือ เป็นสภาวธรรมที่รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อรูปรู้อารมณ์ไม่ได้ แล้วจะไปรับคำสั่งจากใครล่ะครับ
ท่านอาจารย์ และโดยเฉพาะโดยสหชาตปัจจัย จิตเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้นพร้อมกันในอุปาทขณะของจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นสหชาตปัจจัย ทำให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ไม่มีโอกาสจะสั่งเลย เกิดพร้อมกัน