ส่วนต่างๆ ประชุมรวมกันจึงยึดถือเป็นกาย


    ที่เราหลงยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวเรา ขอให้คิดดูว่า มองดูแล้วก็เหมือนกับรูปต่างๆ ชิ้น ที่เอามาต่อติดกันไว้นั่นเอง ขาตัดออกได้ไหม ได้ ผม หัวใจก็ตัดออกได้ แต่ที่เอามาต่อ เอามาติด เอามารวมกันไว้ ทำให้ยึดถือว่าเป็นรูป เป็นร่างกาย แต่ความจริงแล้ว แยกออกได้เป็นแต่ละอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูล

    บางท่านคงจะสงสัยว่า ในส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานของสมถภาวนาด้วย แต่การเจริญสมถภาวนากับการเจริญสติปัฏฐานนั้นต่างกันที่ว่า เวลาที่ระลึกเป็นไปในส่วนต่างๆ ของกายเพื่อให้จิตสงบโดยนัยของสมถกัมมัฎฐานนั้น มีความจงใจ มีความต้องการที่จะให้จิตสงบ

    เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีที่ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ โดยผู้ที่ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเครื่องระลึกให้จิตสงบนั้นจะต้องรู้ว่ามีส่วนใดบ้าง แบ่งออกเป็นกี่ตอน หรือว่ากี่หมวด แล้วก็ท่องๆ จนคล่องทีเดียว โดยนัยของอนุโลมตามลำดับ คือ จากข้อต้นไปหาข้อท้าย และโดยนัยของปฏิโลม คือ จากท้ายมาหาต้น จนกระทั่งคล่องแคล่ว แต่จะต้องท่องด้วยปากเสียก่อน เมื่อท่องด้วยปากจนกระทั่งคล่องแคล่ว แล้วก็ท่องด้วยใจ

    การท่องด้วยใจทำให้แม่นยำ และเป็นปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลเพื่อที่จะให้จิตสงบด้วย นั่นเป็นสมถภาวนา ซึ่งก็จะต้องมีวิธีศึกษา แล้วก็เจริญจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นที่เป็นฌานจิต

    แต่สำหรับนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนัยที่เมื่อระลึกลักษณะส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะนั้นโดยความเป็นธาตุ


    หมายเลข 4131
    2 ส.ค. 2567