ดิฉันเคยเจริญสมาธิ เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ มีท่านผู้ฟังสงสัย ไหมคะ ตอนนี้ ท่านที่เคยเจริญสมาธิมาแล้ว คะ เชิญ
ผู้ฟัง เมื่อ สิบกว่าปี ที่แล้วมา ดิฉันเคยเจริญสมาธิ เหมือนกัน แต่ก็อย่างที่อาจารย์พูด คือหมายความว่า อ่านหนังสือ แล้วก็เอามาเจริญสมาธิ คะ ขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาเลย นั่ง ระลึกรู้ลมหายใจ เคยอ่านบอกว่า เมื่อลมหายใจเข้ายาวก็รู้ตาม ลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ตาม แต่ทีนี้นั่งๆ หลายครั้งๆ เข้า ก็มีบางครั้งที่จิตสงบมาก สงบจนรู้สึกว่า ได้รับความสุข จากความสงบนั้น
ท่านอาจารย์ ใคร่ที่จะเรียนถามท่านผู้ฟัง ซึ่งส่วนมากอาจจะเคยเจริญสมาธิโดยระลึกรู้ลมหายใจ เพราะเหตุว่า ดูเหมือนว่า อานาปานสติสมาธิ จะแพร่หลายมาก กว้างขวางมาก เป็นอารมณ์ที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไป แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าท่านจะดูในวิสุทธิมรรคจะพบว่า อานาปานสติ เป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังลองคิดตามความเป็นจริงว่าบุคคลในยุคนี้สมัยนี้ มีปัญญาเทียบไม่ได้เลยกับบุคคลในสมัยก่อน แล้วก็โดยเฉพาะดูเสมือนว่า ใครๆ ก็จะไปให้จิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ แล้วก็เป็นอานาปานสติสมาธิ กันเสียได้ทั้งหมด จะเป็นความจริงได้อย่างไร ในเมื่ออานาปานะ คือลมหายใจนี่คะ เป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก สุขุม ประณีต โดยสภาพตามความเป็นจริง ลมหายใจคือโผฏฐัพพารมณ์ คือสภาพทธรรมที่กระทบสัมผัส ทางกาย แต่ว่าละเอียดประณีต เพราะว่าเป็นลมที่เกิดจากจิต แต่ว่าถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ท่านจะไม่ทราบเลยว่า จิตใจขณะที่ต้องการจดจ้องที่ลมหายใจนั้น เป็นจิตประเภทใด ขอให้เทียบเคียง ว่า ตามธรรมดาของโผฏฐัพพะ คือรูปเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตรึงไหว ที่กระทบกาย ตามปกติ ธรรมดา เป็นที่ตั้งของความยินดีหรือไม่ อารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี เป็นที่พอใจ ปรารถนา เพลิดเพลินยินดี ต้องการหรือไม่ ตามความเป็นจริง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีใครบ้างที่ไม่ต้องการ ตามธรรมดาตามความเป็นจริง แล้วลมหายใจก็คือโผฏฐัพพะชนิด ๑ เท่านั้น ในเมื่อใจของทุกคน นี่คะ ปรารถนาในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อยู่แล้ว เวลาที่ลมหายใจปรากฏ ซึ่งลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะ ชนิด ๑ เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะ ที่กระทบกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตรึงไหว จิตในขณะนั้น จะไม่พอใจ จะไม่ยินดี ในโผฏฐัพพะ ที่เป็นอานาปานะตามปกติตามธรรมดาหรือคะ เพราะเหตุว่าลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านที่ต้องการที่จะจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ ขอให้คิดว่าขณะนั้น เป็นความต้องการเหมือนท่านต้องการโผฏฐัพพะ ที่กระทบกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตรึงไหว อื่นๆ หรือไม่ นี่คะลักษณะของความต้องการนั้นละเอียดมาก แทบจะไม่รู้ว่าขณะนั้น เป็นความต้องการแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริง ปัญญาจะต้องรู้ในขณะนั้นว่า ต่างกันหรือเหมือนกันกับความต้องการในโผฏฐัพพะ ที่กำลังกระทบที่กาย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ว่าทุกท่าน มีลมหายใจ อ่านเรื่องลมหายใจ อานาปานะ แล้วก็จะไปเจริญสมถภาวนา เกิดความสงบเวลาที่จดจ้องที่ลมหายใจได้ สภาพของจิตขณะที่ต้องการจดจ้องที่ลมหายใจ และขณะที่กำลังรู้ที่ลมหายใจ เหมือนกับขณะที่กำลังจดจ้องหรือว่ารู้ที่โผฏฐัพพะ ที่กำลังปรากฏ ที่ ๑ ที่ใด ในขณะนี้หรือว่าต่างกันอย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้จุดนี้ จะเจริญความสงบได้อย่างไร เพราะว่าปกติก็มีความต้องการในโผฏฐัพพะ อยู่แล้ว แล้วลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะ ชนิด ๑ ซึ่งเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็เป็นที่ตั้งของความยินดีแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะสงบหรือคะ ที่ว่าจดจ้องแล้วก็สบาย
ผู้ฟัง ขณะนั้น ไม่รู้ ไม่มีปัญญา คะ ไม่รู้จริงๆ คะ