การจดจ้องทำให้จิตสงบได้หรือ
ท่านอาจารย์ สภาพของจิตขณะที่ต้องการจดจ้องที่ลมหายใจ และขณะที่กำลังรู้ที่ลมหายใจ เหมือนกับขณะที่กำลังจดจ้องหรือว่ารู้ที่โผฏฐัพพะ ที่กำลังปรากฏ ที่ ๑ ที่ใด ในขณะนี้หรือว่าต่างกันอย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้จุดนี้ จะเจริญความสงบได้อย่างไร เพราะว่าปกติก็มีความต้องการในโผฏฐัพพะ อยู่แล้ว แล้วลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะ ชนิด ๑ ซึ่งเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็เป็นที่ตั้งของความยินดีแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะสงบหรือคะ ที่ว่าจดจ้องแล้วก็สบาย
ผู้ฟัง ขณะนั้น ไม่รู้ ไม่มีปัญญา คะ ไม่รู้จริงๆ คะ คือว่ารู้อยู่อย่างเดียว แต่ว่า เมื่ออ่านพบในหนังสือแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ แล้วก็ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ซึ่งบางครั้งก็บังเอิญ เป็นการบังเอิญ ดิฉันขอใช้คำว่าบังเอิญ ขณะนี้ ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นการบังเอิญ คือว่าก็จิตสงบได้
ท่านอาจารย์ ไม่อยากให้ใช้คำว่าสงบ เป็นสมาธิกับสงบ นี่คะ ต่างกัน สงบต้องขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และปัญญารู้ในสภาพความสงบของจิต ต้องมีปัญญาเกิดในขณะนั้นซึ่งเป็นความรู้ชัด พร้อมสัมปชัญญะสมบูรณ์ ว่าจิตในขณะนั้น สงบเพราะอะไรสำคัญที่สุด คือเหตุว่าจิตในขณะนั้นสงบเพราะอะไร ถ้าท่านผู้ ๑ ผู้ใด กระทบสัมผัส โผฏฐัพพะ ซึ่งไม่ใช่ลมหายใจ ที่ ๑ ที่ใดก็ได้ จดจ้องที่นั่น จะรู้ได้ไหมคะว่าจิตสงบ หรือไม่สงบ ถ้าไม่รู้ เจริญสมถภาวนาไม่ได้ ถ้าจิตเป็นกุศลแทนโลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศล ตามปกติ จะต้องมีปัญญาที่รู้ว่า เหตุใด เป็นปัจจัยให้จิตสงบในขณะที่กำลังระลึกรู้โผฏฐัพพะ ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งสงบ พร้อมปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นความสงบคนละขั้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ท่านไปทำสมาธิ แล้วก็เข้าใจว่าเจริญสมถภาวนา ใช้คำว่า สมถภาวนา ซึ่งไม่ถูก เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ เพราะว่าเมื่อจิตไม่สงบ จะรู้ลักษณะของจิตที่สงบได้อย่างไร ถ้าขณะนี้จิตเป็นโลภะ แล้วจะไปรู้ลักษณะของจิตที่สงบ นี่คะ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตที่สงบไม่ได้กิดขึ้นปรากฏให้รู้ในลักษณะอาการของความสงบของจิต เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องศึกษาก่อน ว่า จิตที่สงบเป็นกุศล ขณะใด และจิตที่ไม่สงบเป็นอกุศล ขณะใด ในชีวิตประจำวัน อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว ว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่ภาวนา ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่พูดถึงวิบากจิตซึ่งเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ว่าโดยทั่วไป เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว จะเกิดโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล คือไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่การอบรมภาวนา ซึ่งจะต้อง เป็นไปได้ด้วยปัญญาเท่านั้น สำหรับการอบรมเจริญภาวนา ถ้าผู้ใดไม่มีการศึกษาให้เข้าใจ เป็นปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถจะเจริญภาวนาทั้งที่เป็น สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาได้