สัมปชัญญะ ๔


    ผู้ฟัง สัมปชัญญบรรพ ท่านแสดงว่ามี ๔ คือ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ และอสัมโมหสัมปชัญญะ ขอให้คุณประเชิญอธิบายความหมายทั้ง ๔ โดยย่อๆ และเกื้อกูลในการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    อ.ประเชิญ สัมปชัญญะ ๔ ท่านมีอธิบายไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ในสามัญญผลสูตร ก็มี ซึ่งในคำอธิบายในสามัญญผลสูตร ท่านกล่าวถึงเรื่องสัมปชัญญะ ๔ โดยนัยยะทั้งสมถะ และวิปัสสนา แต่ในสติปัฏฐานสูตรที่ท่านมุ่งหมายจริงๆ สัมปชัญญะทั้ง ๔ มุ่งหมายประการที่ ๔ คือ อสัมโมหสัมปชัญญะ

    สัมปชัญญะที่ ๑ ก็คือ สาตถกสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือปัญญา สาตถกะ คือการรู้ประโยชน์ สา- อตถกะ ท่านกล่าวถึงประโยชน์ ซึ่งในตัวอย่างอรรถกถาท่านก็จะขยายความในเรื่องของพระภิกษุ คือ ยกตัวอย่างพระภิกษุ ในอรรถกถาทั้งหลาย เวลายกตัวอย่างท่านก็จะยกตัวอย่างของพระเถระทั้งหลาย หรือการบำเพ็ญกรรมฐานของภิกษุแต่ละรูป ฉะนั้นท่านยกตัวอย่าง ในสาตถกสัมปชัญญะ ก็คือการที่รู้ประโยชน์ในการที่จะก้าวไป คืออธิบายเรื่องของสัมปชัญญบรรพ เป็นการก้าวไป ข้างหน้า ถอยกลับ การยืน เดิน นั่ง นอนเหล่านี้ เป็นอิริยาบถใหญ่ คือ เป็นเรื่องของสัมปชัญญบรรพ ปัญญาที่รู้ประโยชน์ในการก้าวไป ในตัวอย่างท่านก็กล่าวถึงเรื่องการไปไหว้พระเจดีย์ การไปไหว้พระมหาเถระ ไปไหว้ต้นโพธิ์ เป็นต้น อันนี้คือการรู้ประโยชน์ในการก้าวไป เป็นสาตถกสัมปชัญญะ ซึ่งรายละเอียดก็ไปอ่านได้ในที่เรียนแล้วในมหาสติปัฏฐาน ในสามัญญผลสูตร แม้แต่ในสังยุตตนิกายที่เป็นสติ ก็คือเรื่องของสติ อธิบายไว้หลายที่มากเลย

    ประการที่ ๒ สัปปายสัมปชัญญะ เป็นการรู้สิ่งที่สบายหรือสิ่งที่ปลอดภัย หรือสิ่งที่ไม่มีภัย ท่านใช้คำว่า รู้สิ่งที่เหมาะสม และเป็นที่สบาย แล้วก็ไม่มีอันตราย ในอรรถกถาท่านกล่าวอย่างนั้น ซึ่งสำหรับชีวิตของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน การก้าวไป การถอยกลับ ทุกอย่างก็จะรู้สึกตัว รู้ประโยชน์ว่าจะไปทำอะไร อย่างไร ที่ไหน ซึ่งตัวอย่างนั้นท่านก็กล่าวถึงการที่ภิกษุจะรู้สิ่งที่สบาย และไม่เป็นอันตรายในการไปไหว้พระเจดีย์ เป็นต้น คือท่านอธิบายต่อเนื่องกัน ถ้าไปไหว้พระเจดีย์ในบางช่วง เช่นเทศกาลไหว้พระเจดีย์ ในสมัยนั้นจะมีเทศกาลเหมือนกัน ว่าอาจจะมีคนไปมากมาย มีพระราชาเสด็จไป มีผู้หญิง ผู้ชายมากมาย ก็จะทำให้เบียดเสียด แล้วก็ไปเห็นเพศตรงกันข้ามมากมาย ทำให้เป็นอันตรายต่อเพศพรหมจรรย์ของท่าน ฉะนั้นก็ไปในเวลาที่สบาย ที่เหมาะสม ที่ไม่มีถูกเบียดเสียด ไม่ถูกรบกวนในเรื่องของรูป เป็นต้น ของภิกษุท่าน โดยสรุปก็คือรู้สิ่งที่สบาย หรือที่ที่ไม่มีอันตรายนั่นเอง

    สำหรับสัมปชัญญะที่ ๓ ก็คือโคจรสัมปชัญญะ เป็นเรื่องของภิกษุเช่นเดียวกันที่ท่านยกตัวอย่างการพิจารณากรรมฐาน การรู้กรรมฐานเป็นที่สบายของตน คือเป็นกรรมฐานที่ถูกจริตอัธยาศัยของตน ซึ่งในสมัยนั้นก็อาศัยพระมหาเถระทั้งหลายที่ท่านมีความรู้มีความสามารถที่จะรู้ว่าแต่ละรูป ควรจะมอบกรรมฐานหรือธรรมหมวดไหนที่เหมาะสมอัธยาศัยของแต่ละท่านนั้น ท่านก็จะสอนเน้นในเรื่องนั้น ก็เรียกว่ากรรมฐานของท่านที่ท่านจะอบรมในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในการที่จะเดินไปบิณฑบาต เป็นต้น ก็คือการก้าวไป บิณฑบาต ตลอดเวลาพร้อมทั้งการเดินกลับ ก็ไม่ละทิ้ง คือไม่หลงลืมนั่นเอง ตลอดระยะเวลาทั้งไปทั้งกลับ ท่านก็จะใช้คำว่าโคจรสัมปชัญญะ มีการนำไปนำกลับ นำไปไม่นำกลับ ทั้งไม่นำไป ไม่นำกลับ เป็นต้น ท่านก็มีตัวอย่างในที่นั้น นี้ก็คือโคจรสัมปชัญญะ

    ส่วนอสัมโมหสัมปชัญญะ เป็นสัมปชัญญะที่ท่านมุ่งหมาย ในที่นี้เป็นการไม่หลงพร้อม ตามศัพท์คือการไม่หลงพร้อม ด้วยการรู้สภาพธรรม โดยนัยยะของขันธ์ ธาตุอายตนะต่างๆ ในขณะที่ก้าวไป ขณะที่ยืน ขณะที่เดินนอน เป็นต้น ก็เป็นการไม่หลงพร้อมในขณะที่เป็นไปในอิริยาบทต่างๆ นี้ก็เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ นี้ก็กล่าวตามที่อรรถกถาท่านขยายความไว้ ซึ่งรายละเอียดคงจะได้ทราบจากท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง

    ซึ่งในที่นี้ ก็เป็นปกติของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งกุศลอื่นๆ ด้วย ก็เป็นไปในทุกๆ อิริยาบทอยู่แล้ว


    หมายเลข 4150
    3 ส.ค. 2567