เจตนาเกิดกับจิตทุกดวง


    อ.วิชัย สังขารธรรม หมายถึงธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปัจจัยเดียวแต่มีหลายปัจจัย มีสภาพธรรมหลายอย่างที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กัมมปัจจัยก็เป็นปัจจัยหนึ่ง โดยที่ต้องกล่าวถึงว่าอะไรคือปัจจัย และอะไรที่เป็นผลเรียกว่าปัจจยุบบันของปัจจัยนั้นๆ เพราะเหตุว่าถ้าเรากล่าวถึงปัจจัยก็หมายถึงเหตุ คือสภาพที่อุปการะอุดหนุนที่จะให้ธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่าสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ส่วนอีกคำหนึ่งก็คือปัจจยุบบัน ก็หมายถึงผล เมื่อมีปัจจัยแล้วก็ต้องมีผลที่เกิดจากปัจจัยนั้น เรียกว่าปัจจยุบบัน ดังนั้นกรรมหมายถึงเจตนา เมื่อสำเร็จถึงความเป็นกรรม ก็คือสามารถที่จะให้ผลในกาละที่ควรแก่การของกรรมนั้นที่จะให้ผล ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิต และเจตสิกเกิดขึ้น ด้วยอำนาจของกัมมปัจจัย โดยมีเจตนาที่ดับไปแล้วนั่นแหละ เป็นกัมมปัจจัยให้วิบากจิต และเจตสิกเกิดขึ้นในภายหลัง รวมถึงกัมมชรูปด้วย

    ดังนั้น ถ้าถามว่าเจตนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นกัมมปัจจัยหรือเปล่า จิตเห็นเกิดขึ้นมีเจตนาเกิดร่วมด้วยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    อ.วิชัย เจตนาในขณะที่เกิดพร้อมกับจิตเห็นเป็นกัมมปัจจัยหรือเปล่า ถ้าถามอีกอย่างหนึ่ง เจตนาที่เกิดกับจิตเห็น ให้ผลเป็นวิบากจิตเกิดขึ้นในภายหลังอีกหรือไม่ ดังนั้นจิตเห็นของพระอรหันต์ ก็สามารถเจตนาในจิตเห็นที่เกิดกับพระอรหันต์ก็สามารถให้ผลในภายหลังเป็นวิบากจิตด้วยไม่ได้ ดังนั้นเราต้องเข้าใจความหมายของกรรม ว่าเจตนาสามารถที่จะเป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วก็คือให้ผลเกิดขึ้นพร้อมกับตน อาจจะเรียกว่าสหชาตกัมมปัจจัย ฉะนั้นเจตนาเกิดขึ้นทุกขณะ เป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิต และเจตสิก รวมถึงรูปด้วย ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือว่าจิตที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต จิตที่เกิดทุกขณะๆ มีเจตนาเกิดร่วมด้วย และเจตนาที่เกิดพร้อมกับจิตขณะนั้นก็เป็นปัจจัยด้วย ด้วยความเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะว่าเมื่อจิตจะเกิดขาดเจตนาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.วิชัย ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหนก็ตาม เป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ทุกขณะเมื่อเกิด ต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วย ดังนั้นเจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อเกิดต้องเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่าทุกครั้งจะเป็นนานักขณิกะคือให้วิบากจิตเกิดขึ้นภายหลัง แต่ว่าต้องเป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกัน แก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกัน แก่รูปด้วย แต่ที่เรากล่าวถึงขณะที่เป็นปฏิสนธิ ก็เป็นผลของเจตนาในอดีต และก็เป็นผลของเจตนาที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิด้วย ก็เห็นถึงว่าปัจจัยก็จะมีความละเอียดมาก แต่ให้รู้ว่าเมื่อ เจตนามีความสามารถที่จะเป็นปัจจัยได้ โดยความเป็นสหชาตกัมมปัจจัย และนานักขณิกะ คือให้ผลต่างขณะ เจตนาที่จะให้ผลต่างขณะ ต้องเฉพาะที่เป็นกุศลเจตนา และอกุศลเจตนาเท่านั้น คือถึงความเป็นกรรมที่สามารถจะให้ผล อันนี้ก็คือปัจจัยอย่างหนึ่ง


    หมายเลข 4161
    24 ต.ค. 2567