กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยเจาะจง กรรมต้องได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น นี่ก็เป็นหนึ่งกรรม และเมื่อครู่กี้นี้คุณวิชัยก็ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เลือกเลยว่าจะเกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต ด้วยเหตุที่เจตนานั้นต้องเกิดกับจิตทุกดวง จึงเป็นสหชาตปัจจัยของจิตทุกดวง หมายความว่าเกิดร่วมกันกับจิต เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันด้วย โดยที่ว่าไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ก็เป็นสหชาตปัจจัย
เพราะฉะนั้นสำหรับเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิตเป็นสหชาตปัจจัย ทำให้จิตเกิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีรูปเกิดด้วยหรือไม่มีรูปเกิดด้วย แต่ถ้าเป็นปฏิสนธิจิต จะไม่มีรูปเกิดจากปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย เพราะเหตุว่าเพิ่งเป็นขณะแรก เพราะฉะนั้นจิตตชรูปจะเกิดหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว แต่ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย นี่คือความละเอียด ซึ่งแยกให้เห็นว่ารูปที่เกิดเป็นกัมมชรูปก็อย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นจิตตชรูปอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจก็ไม่เป็นไร หมายความว่าเราฟังธรรมไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรม และมีโอกาสฟังอีกก็พิจารณาเข้าใจอีก ไม่ใช่คิดว่าจะยากเกินไป แต่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่าสหชาตปัจจัย และก็เจตนาเป็นกรรม เราสามารถที่จะเรียกปัจจัยนี้ได้ว่าสหชาตกัมมปัจจัย ก็คือแปลเป็นภาษาไทยหรือพูดอย่างภาษาไทย ก็หมายความถึงเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตนาที่เกิดกับสหชาตธรรม ได้แก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน จึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นผลของปัจจัยนี้ ก็คือจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดเพราะเจตนาเป็นสหชาตกัมมปัจจัย
ชื่ออาจจะยาก และเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าเข้าใจความหมายแล้วก็ไม่เป็นไร ชื่อเรานึกถึงทีหลังก็ได้ แล้วเราก็พูดเองก็ได้ ถ้าจะพูดถึงกัมมปัจจัย ซึ่งเป็นสหชาตก็เรียกว่าสหชาตกัมมปัจจัย นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับปฏิสนธิจิตที่ต้องมีเจตนาเจตสิก
และเวลาที่กล่าวถึงกัมมปัจจัยสำหรับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วสำเร็จแล้ว ไม่ใช่หมายความถึงตัวเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต แต่ปฏิสนธิจิตนี่ต่างหากที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำกรรมสำเร็จแล้วในอดีต ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอย่างสหชาตกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นเจตนาที่ได้กระทำไปแล้วให้ผลต่างขณะ จึงมีชื่อว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย หมายความว่าเหตุได้สำเร็จลงไปแล้วในอดีต ทำให้ผลเกิดขึ้นภายหลัง ก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย นี้พูดถึงปฏิสนธิจิต แต่ก็เช่นเดียวกับจิตอื่นที่เป็นวิบาก อย่างจิตเห็นมีสหชาตกัมมปัจจัยไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นวิบากหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ตัวเจตนาขณะที่เกิดร่วมด้วยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่าเจตนาในอดีตที่ได้กระทำแล้วเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้ามีข้อสงสัยก็ซักถามได้ เพราะว่าทั้งหมดคือการสนทนาธรรม ที่จะให้มีความเข้าใจเป็นของเราเองแต่ละคน ซึ่งไม่ต้องไปท่อง แล้วก็ไม่ลืม ถ้าสงสัยตอนไหนก็เชิญซักถามได้เลย