ไม่พ้นไปจากกรรม


    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ไม่ว่าในอากาศ ไม่ว่าในกลางทะเล ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ในระหว่างภูเขา ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ แม้นี้ชื่อว่า “กัมมนิยาม” นั่นเอง

    สำหรับเรื่องที่กระทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้คือ

    ไม่ว่าในอากาศ ไม่ว่าในกลางทะเล ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้

    มีข้อความแสดงว่า สำหรับ ไม่ว่าในอากาศ คือ

    ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไฟไหม้บ้านใกล้ประตูเมืองสาวัตถุ ต่อนั้นกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกาซึ่งบินไปทางอากาศ กานั้นร้องตกตายบนแผ่นดิน

    ซึ่งเมื่อภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในพระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อนี้มิใช่ผู้อื่นกระทำ เป็นกรรมที่เขาเหล่านั้นแหละกระทำไว้

    แล้วได้ทรงนำเอาอดีตนิทาน คือ เรื่องในครั้งก่อนมาตรัสแสดงว่า

    กาเป็นคนในชาติก่อน เมื่อไม่สามารถจะฝึกโคโกงตัวหนึ่งได้ ก็ผูก ใช้คำว่า เขน็ดใบไม้แห้งสวมคอ แล้วจุดไฟ โคตายด้วยไฟนั้นแหละ บัดนี้ กรรมนั้นไม่อาจจะปล่อยกานั้น แม้ไปอยู่ทางอากาศ

    สำหรับในเรื่องของ ไม่ว่าในกลางทะเล

    เป็นเรื่องของหญิงผู้หนึ่งซึ่งโดยสารมาในเรือลำหนึ่ง เรือลำนั้นไม่สามารถจะแล่นต่อไปได้ หยุดนิ่งอยู่ในมหาสมุทร ทุกคนไม่ทราบว่า ทำอย่างไรจึงจะรอดชีวิตได้ ก็ได้เสี่ยงจับสลากหาผู้ที่เป็นกาลกัณณี สลากนั้นก็ตกไปในมือของภรรยาของนายเรือ ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนนั้นถูกจับโยนลงน้ำไป แต่นายเรือกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเห็นนางนี้ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกคอ แล้วให้โยนลงไป ทันใดนั้นเองเรือก็แล่นออกไปได้ เหมือนดังลูกศรซึ่งซัดไปฉะนั้น

    เมื่อพระภิกษุกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์อดีตกรรมของผู้หญิงนั้นว่า

    ในชาติก่อนหญิงนั้นก็เป็นหญิงคนหนึ่ง มีสุนัขเลี้ยงตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงคนนี้จะไปที่ไหน สุนัขนั้นก็ติดตามไป จนกระทั่งพวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า พรานสุนัขของพวกเราออกแล้ว ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนนั้นรู้สึกอึดอัด เพราะว่าไม่สามารถห้ามสุนัขนั้นไม่ให้ติดตามได้ ก็เลยเอาหม้อบรรจุทรายผูกคอสุนัขโยนลงน้ำไป

    เพราะฉะนั้นกรรมนั้นจึงไม่ให้เพื่อจะปล่อยเธอลงในกลางทะเล ก็ต้องถูกหม้อบรรจุทรายผูกคอแล้วโยนลงน้ำ

    สำหรับข้อความที่ว่า ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งภิกษุรูปนี้อยู่ในถ้ำ แล้วมียอดภูเขาใหญ่ตกมาปิดปากถ้ำไว้ ในวันที่ ๗ ยอดภูเขาใหญ่ที่ตกลงมาปิดประตูนั้นจึงได้กลิ้งออกไปได้

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปนี้ว่า เคยเป็นเด็กเลี้ยงโคในชาติก่อน แล้วได้ปิดปากประตูขังเหี้ย ซึ่งเข้าไปในรู แล้วในวันที่ ๗ ก็มาเปิดให้ เหี้ยก็ตกใจกลัวตัวสั่นออกไป แต่เขาก็ไม่ได้ฆ่า เพราะฉะนั้นกรรมนั้นก็ไม่ได้เพื่อให้จะปล่อยภิกษุนั้นผู้เข้าไปสู่ซอกภูเขา นั่งอยู่ ยังติดตามให้ผลได้

    แม้นี้ชื่อว่า “กัมมนิยาม” นั่นเอง เพราะเหตุว่า นิยามมี ๕ อย่าง ได้แก่

    พืชนิยาม หรือพีชนิยาม กำหนดที่แน่นอนของพืช ๑

    อุตุนิยาม กำหนดที่แน่นอนของฤดู ๑

    กัมมนิยาม กำหนดที่แน่นอนของกรรม ๑

    ธัมมนิยาม กำหนดที่แน่นอนของธรรมดา ๑

    จิตตนิยาม กำหนดที่แน่นอนของจิต ๑

    ตามข้อความในจิตตุปาทกัณฑ์ ในอัฏฐสาลินี


    หมายเลข 4179
    2 ส.ค. 2567