นิพพานถึงได้หลายทางใช่ไหม


    คุณศุกล มีผู้กล่าวว่า การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้นเปรียบเหมือนการเดินทาง มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือพระนิพพาน การปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาก็มีลักษณะต่างๆ กัน บางแห่งก็สอนเรื่องความสงบ ในเมื่อต่างกันอย่างนี้ และตรงกับที่มีผู้กล่าวว่า อุปมาเหมือนการเดินทาง เช่นจะเดินทางไปเชียงใหม่ จะไปทางรถยนต์ก็ถึง จะไปทางรถไฟก็ถึง จะเดินก็ถึง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ข้ออุปมาที่กล่าวถึงข้อปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่มีหลายทางนั้น จะผิดถูกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใครบ้างคะที่อยากจะถึงนิพพาน ถามด้วยความจริงใจที่สุด กี่คนคะ น้อยใช่ไหมคะ ที่น้อย ผู้ที่ยังไม่ปรารถนา ถูก เพราะว่ายังไม่รู้เลยว่า นิพพานคืออะไร ลองคิดดูซิว่า พอใครพูดอะไรแล้วเราอยากได้ อยากถึง โดยยังไม่รู้เลยว่า นิพพานจริงๆ นั้นคืออะไร เราอยากได้อะไร ถ้าถามจริงๆ ว่า อยากได้อะไร ต้องตอบให้ถูกว่า นิพพานคืออะไร แล้วถึงจะตอบได้ว่า อยากจะถึง ถ้าตอบยังไม่ได้ ยังไม่อยากถึง เพราะยังไม่รู้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น คุณศุกลอยากจะถึงนิพพานหรือเปล่าคะ

    คุณศุกล ก็อยากถึงครับ

    ท่านอาจารย์ อยากหรือคะ เร็วจังเลย เร็วมาก คนที่อยากถึงนิพพานนี่เร็วเกินไป ต้องใช้คำนั้น เพราะอะไรคะ ยังไม่ทันจะเห็นทุกข์ ก็อยากจะถึงนิพพาน นี่เป็นสิ่งที่ค้านกันแล้ว คนที่จะถึงนิพพานได้ คือผู้เห็นทุกข์ ทุกข์ที่นี่ไม่ใช่หิว ไม่ใช่เจ็บ ไม่ใช่เบื่อ แต่เป็นการประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แล้วอยากจะถึงนิพพาน ไม่พอ เป็นแต่เพียงความอยาก

    เพราะฉะนั้น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านว่า ทำไมบวชในพระธรรมวินัย ท่านเหล่านั้นตอบว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญาให้เห็นทุกข์ แสดงว่า ท่านเป็นผู้รู้จักท่าน และรู้ว่าท่านยังไม่เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ต้องเห็นทุกข์ก่อน อริยสัจมี ๔ คือ ๑ ทุกขอริยสัจจะ เป็นความจริง แต่ว่าใครเห็น ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่า จิตเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร เจตสิกเป็นอย่างไร สภาพธรรมเป็นอย่างไร ขณะนี้เกิดดับเป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้ แล้วจะถึงนิพพานทำไม จะถึงได้อย่างไร โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า ถึงนิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าแม้แต่ทุกข์ในขณะนี้ก็ยังไม่ประจักษ์


    หมายเลข 4303
    27 ก.ค. 2567