การศึกษาเรื่องปัจจัย กับ ปรมัตถธรรม
ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เรื่องของปัจจัยทั้งหมดก็คือนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเองซึ่งก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่าถ้าจะกล่าวว่า ศึกษาปรมัตถธรรม หรือจะกล่าวว่าศึกษาปัจจัย ก็มีความหมายเดียวกัน เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมนั่นเองต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นเป็นไป ทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่เพราะเหตุว่าแม้จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่การที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล หรือเป็นเรา ก็เป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมแล้ว ก็จะหมดการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดสำหรับใคร สำหรับผู้ที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ซึ่งสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยรวดเร็ว และไม่ใช่สำหรับวิปปัญจิตัญญูบุคคลแต่สำหรับผู้ที่ต้องฟังและต้องพิจารณาและต้องอบรมเจริญปัญญาอีกนานทีเดียวกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน และยิ่งรู้เรื่องของปัจจัยมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้มีเครื่องประกอบที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้น ละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่มิฉะนั้นแล้วถึงแม้ว่า สติจะเกิดบ้างระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ที่จะดับความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ถ้าเครื่องประกอบหรือสังขารขันธ์ยังปรุงแต่งไม่พอ ยังไม่ถึงกาลที่สมควร ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปเร่งรัดหรือทำอย่างอื่น นอกจากจะฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วโดยละเอียด และในขณะที่ฟังนี้เองก็อาจจะมีขณะซึ่งสติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่กำลังได้ยินได้ฟังก็ได้ เพราะเหตุว่าเข้าใจแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว การศึกษาเรื่องของปัจจัยก็คือ การศึกษาปรมัตถธรรมนั่นเองซึ่งปรมัตถธรรมโดยย่อ ก็มีนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมให้เข้าใจ ก็คือ ให้รู้ในสภาพที่เป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาโดยจำนวนหรือโดยชื่อ