สหชาตปัจจัยหมวดที่ ๑ จิต ๘๙ กับเจตสิก ๕๒
ซึ่งในคราวที่แล้วก็ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ ๖ คือ สหชาตปัจจัย และปัจจัยที่ ๗คืออัญญมัญญปัจจัย
สำหรับปัจจัยที่ ๖และปัจจัยที่๗ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า ?
โดยชื่อสหชาตปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับว่า จะต้องดับพร้อมกันหรือเปล่า คำนึงถึงเพียงประการเดียว คือ สภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย สภาพธรรมนั้นต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันนธรรม ซึ่งตนเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด ๖ หมวด
ซึ่งขอทวนคือ
หมวดที่ ๑จิต ๘๙และเจตสิก ๕๒ เป็นปัจจัยให้จิตทุกดวงและเจตสิกทุกดวงเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า จิตและเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน จะเกิดแยกจากกันไม่ได้เมื่อจิตต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกต้องอาศัยจิตจิตและเจตสิกซึ่งต่างอาศัยซึ่งกันและกันนี้เป็นอัญญมัญญปัจจัย คือปัจจัยที่ ๗
เพราะฉะนั้นในปัจจัยที่ ๖และที่ ๗ก็คือปัจจัยที่ ๖แสดงถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันนเกิดพร้อมกัน
สำหรับปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต้องอาศัยปัจจยุปบันนธรรมและสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันนธรรมต้องอาศัยปัจจัย ต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เช่น จิตและเจตสิก
เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมในขณะนี้เอง นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริง ๆแต่ว่าเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่จะรู้ว่าเป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างไร ก็ควรที่จะได้ทราบด้วย เพราะเหตุว่าผู้ที่ศึกษาธรรมเข้าใจแล้วว่า ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดย่อมเกิดไม่ได้ทั้งสิ้น
นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านทราบ แต่ควรจะเป็นผู้ที่ละเอียดกว่านั้นว่า เมื่อกล่าวว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะจิต ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ก็ควรที่จะได้ทราบละเอียดว่า ปัจจัยอะไร ในแต่ละขณะด้วยไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย หรือว่าตามแต่เหตุปัจจัย หรืออาศัยเหตุปัจจัย แต่ต้องทราบว่าปัจจัยอะไร
เช่น สหชาตปัจจัยได้แก่
หมวดที่ ๑ได้แก่ จิตและเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน
อัญญมัญญปัจจัย จิตต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกต้องอาศัยจิต
เพราะฉะนั้นจิตเป็นอัญญมัญญปัจจัยของเจตสิกทำให้เจตสิกเป็นปัจจยุปบันนเกิดขึ้น และเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตนั้น นอกจากจะเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ก็ยังเป็นอัญญมัญญปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นด้วย
ก็ไม่มีอะไรซึ่งเป็นของใหม่ เพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง