การท่อง กับ การระลึกถึงความเป็นปฏิกูล
ผู้ฟัง การท่องจำเป็นอย่างไร ในการเจริญสมถะ
ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบ จดจ้องแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่ฟุ้งซ่านไป
เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่าไม่ท่อง จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านไปเป็นอื่น จึงต้องท่องให้จิตระลึกอยู่ที่อาการทั้ง ๓๒ นั้น ไม่ให้จิตแลบหรือฟุ้งซ่านไปที่อื่น การท่องต้องมีเหตุผลด้วยว่า จะต้องท่องไปโดยลำดับ เพื่อให้แม่นยำชัดเจน ถ้าการท่องไม่เป็นไปตามลำดับก็หลงลืมได้ และเวลาที่ท่องก็ไม่ต้องรีบร้อนด้วย เพราะเหตุเดียวกัน คือ ถ้าท่องอย่างรีบร้อนก็ทำให้ไม่สามารถที่จะจดจำ หรือระลึกถึงลักษณะได้อย่างชัดเจน เพียงแต่รีบท่องให้จบ แต่ไม่สามารถพิจารณาเข้าใจถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ได้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลก ๖ โลก คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ผู้ฟังก็ยังหลงลืมสติอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงทุกสิ่งทุกประการ ที่จะเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ได้ แม้แต่ผมที่ทุกคนก็ต้องเห็นอยู่ทุกวัน ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็มีปรากฏให้ระลึกได้อยู่ทุกวัน ก็ควรระลึกถึงความเป็นปฏิกูล เพื่อรู้ลักษณะของนาม และรูปตามความเป็นจริงด้วย
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็น กำหนดนามหรือกำหนดรูป
ท่านอาจารย์ ทำไมถามว่า จะกำหนดนาม หรือกำหนดรูป
ผู้ฟัง ถามเพื่อจะให้เห็นสภาวะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นมีของจริง คือเห็น กับสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ชัดทั้ง ๒ อย่างไม่ปะปนกัน เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นสภาพรู้ทางตา สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่เห็น แล้วทำไมจึงถามว่า เวลาที่เห็นจะให้กำหนดอะไร อกุศลทั้งหมดที่มี การบรรลุอริยสัจธรรมนั้นเพื่อละอกุศล ซึ่งไม่ใช่จะละได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงจะละได้
การละนี่ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญความรู้ เป็นการเจริญปัญญา แต่ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้
พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตาก็ต้องรู้ชัดในสภาพที่เห็นในสิ่งที่ปรากฏ ทางหูก็ต้องรู้ชัดในสภาพที่รู้ทางหูในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ต้องรู้ชัด การเจริญสติปัฏฐานต้องรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ระลึกไม่ทันก็ไม่เป็นไร ใครไปบังคับได้ สติระลึกที่ไหนก็ระลึกที่นั่น จนกระทั่งชินแล้ว ปัญญารู้แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้นจากการฟังว่า ยังมีนามอื่นรูปอื่นอีกมากที่ยังไม่รู้ สติก็เริ่มระลึกรู้นามอื่นรูปอื่นต่อไปจนกว่าจะทั่ว แต่ไม่ใช่ไปบังคับ ใครจะระลึกทางใจก่อนก็ได้ ใครจะระลึกทางตาก็ได้ ใครจะระลึกทางกายก็ได้ ระลึกรูปก็ได้ ระลึกนามก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะไปบังคับว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าไม่ให้รู้สิ่งนั้นไม่ให้รู้สิ่งนี้ สติจะเกิดระลึกรู้ที่นามใดรูปใดไม่มีใครบังคับได้
จะต้องรู้ปกติธรรมดา การเจริญสติปัฏฐานไม่ผิดปกติเลย ถ้าผิดปกติหมายความว่าไม่ใช่เจริญสติปัฏฐาน ฟังให้เข้าใจ และปัญญาจะต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทาง ไม่ใช่ว่าทางนั้นไม่รู้อย่างนี้ ทางนี้ไม่รู้อย่างนั้น จะทำให้จดจ้อง และรู้เฉพาะบางนามบางรูป แล้วก็เป็นตัวตนที่ต้องการด้วย
ถ้าไม่ทั่วจะละได้อย่างไร การยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ