ค่อยๆ เข้าใจทีละนิด ไม่จำเป็นต้องท่องเลย


    ท่านอาจารย์ ชาตะ แปลว่าเกิด สหชาติ สหชาตะ ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิดพร้อมกันต่างก็เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ซึ่งกัน และกัน อย่างจิตเกิดก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยโดยสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ทั้งหมดก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต แล้วทีละหนึ่งก็แยกไปได้ เพราะฉะนั้นเจตสิกหนึ่งก็เป็นสหชาตะ คือ จิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันด้วย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จิตทีละดวง

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดถึงจิต ๑ ดวงว่า แต่ละ ๑ ดวงมีปัจจัยอะไรที่จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ ยิ่งเข้าใจเรื่องปัจจัยก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินชื่อ “กรรม” ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นเจตสิก แล้วเจตสิกมี ๕๒ เจตสิกอะไรที่เป็นกรรม ก็ต้องได้แก่เจตนาเจตสิกประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นกรรม แล้วเมื่อเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้นจึงเป็นกัมมปัจจัย เพราะคำว่า “ปัจจัย” หมายถึงสภาพที่อุปการะเกื้อกูลสนับสนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิด หรือดำรงอยู่

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยต้องมีปัจจยุบัน เพราะว่าปัจจัยนี้ทำให้อะไรที่เป็นปัจจยุบันเกิด หรือเวลาที่สิ่งนี้เกิดเป็นปัจจยุบันของปัจจัยอะไร ต้องคู่กันเสมอ จะมีปัจจัยโดยไม่มีปัจจยุบันไม่ได้ และจะมีปัจจยุบันโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย แม้แต่จิต ๑ ขณะก็ยังมีทั้งปัจจัย และปัจจยุบัน

    ผู้ฟัง ปัจจยุบันก็คือผลที่เกิดจากปัจจัยนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต เจตนาเป็นกัมมปัจจัย ในขณะที่เจตนาเจตสิกเกิดกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต ยกขึ้นมาเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบัน ในจิตขณะนั้นที่เกิด ดวงเดียวนั้นแหละ จิตขณะนั้นเป็นปัจจยุบัน และเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นปัจจยุบันด้วย โดยเจตนาเจตสิกอันเดียวที่ยกขึ้นมาเป็นกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ขณะปฏิสนธิจิตเกิด เจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพิ่มคำว่า “สหชาตะ” ภาษาไทยคือเกิดพร้อมกัน จะพูดภาษาไทยก็ได้ว่า เกิดพร้อมกัน แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็เป็นสหชาตกัมมะแก่ปฏิสนธิจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ปฏิสนธิจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิก

    ค่อยๆ เข้าใจไป ไม่ต้องท่องเลย


    หมายเลข 4441
    5 ส.ค. 2567